“สส.ศุภณัฐ” ตั้งกระทู้ถาม เปลี่ยนหมายเลขรถเมล์ในกรุงเทพฯ ไม่ฟังเสียงประชาชน แบ่งโซนจนคนสับสน คนต่างจังหวัดไม่มีรถเมล์ใช้ ระบบตั๋วร่วมยังไม่เกิด ด้าน รมช.คมนาคม แจง กำลังเร่งประชาสัมสัมพันธ์ ให้ทีมลงไปศึกษาแล้ว ชี้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจะเข้าสู่ ครม. ภายในเดือนนี้ 

วันที่ 8 ก.พ. 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ จตุจักร-บางเขน-หลักสี่ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาลเรื่องสายรถเมล์ ที่กรมขนส่งทางบกไปปรับเลขสายรถเมล์แบบใหม่ X-xx และ xxx ที่มีขีดกลาง และแบ่งเป็นโซนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้สูงอายุและประชาชนต่างวิพากษ์วิจารณ์ เพราะทำให้เกิดความสับสน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกเคยทำประชาพิจารณ์แล้วแต่ไม่ผ่านเนื่องจากประชาชนไม่เห็นด้วย แต่กรมการขนส่งทางบกยังดำเนินการ ซึ่งเข้าคอนเซปต์ คนคิดไม่ได้นั่ง คนนั่งไม่ได้ทำ ยืนยันว่ายิ่งแก้ยิ่งสับสนและการแก้เลขสายรถเมล์มันใช้ไม่ได้ผล เพราะส่วนใหญ่วิ่งข้ามโซนกัน จึงสอบถามว่ารัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว และจะยกเลิกแบบใหม่ไปใช้แบบดั้งเดิมได้หรือไม่

โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะกำกับดูแลกรมขนส่งทางบก กล่าวชี้แจงว่า การแบ่งโซนรถเมล์ คณะศึกษาได้ให้เหตุผลว่า กลัวประชาชนหลงทาง โดยประชาชนจะได้ทราบว่าโซนรถเมล์ 1-4 และสีนั้น วิ่งไปไหนก็จะกลับมาที่โซนเดิม ส่วนจะเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมได้หรือไม่นั้น วันนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นผลดีหรือไม่ โดยจะให้ทีมลงไปศึกษาอีกครั้ง ว่ามีการประชาสัมพันธ์เพียงพอหรือยัง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสายรถเมล์ใหม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 90 วัน

จากนั้นนายศุภณัฐ กล่าวอภิปรายต่อว่า แผนที่ที่รัฐมนตรีนำมาชี้แจงถูกเจ้าหน้าที่วางยาเพราะกำหนดทิศโซนผิด และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ เพราะรัฐมนตรีเป็นคนไปสั่งรื้อเส้นทางทั้งหมดเอง จึงขอให้ช่วยกันแก้และเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงขอถามว่าการให้กรมขนส่งทางบก จากเดิมตรวจสภาพรถแต่ปัจจุบันมาออกใบอนุญาต วางกฎระเบียบผู้เดินรถนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะรถเมล์ที่สะดวก สะอาด เข้าถึงง่าย ราคาจับต้องได้คือสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ได้จากรัฐบาล ขณะที่ปัจจุบันมีรถเมล์วิ่งกันแค่ 153 เส้นทาง และมีอีก 193 เส้นทางที่ไม่ได้วิ่ง แค่ฝั่งตะวันออกก็มีแค่ 7 เส้นทาง ไม่เพียงพอ และทั้งเก่าและทรุดโทรม รอนาน ส่วนต่างจังหวัดบางจังหวัดแทบจะไม่มีรถเมล์ ถ้าเปรียบเทียบการลงทุนรถไฟฟ้า 1 สาย ซื้อรถเมล์ใหม่ยกชุดได้ทั้งประเทศ แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจและสนใจแต่รถไฟฟ้า จึงถามว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหารถเมล์ขาดแคลนวิ่งไม่ครบรอบอย่างไร และจะมีแนวทางให้เกิดรถเมล์ในเขตของกทม.และต่างจังหวัดที่ยังไม่มีรถเมล์อย่างไร และภายในปี 2567 จะมีจังหวัดใดบ้างที่จะผลักดันรถเมล์เพิ่มขึ้น

...

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จึงชี้แจงว่า จริงๆ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะให้ความสำคัญและบูรณาการทุกระบบ และในอนาคตรถเมล์จะเป็นพระเอก โดยระบบราง ล้อ จะเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน หากรถไฟทางคู่เสร็จสิ้น ระบบรถไฟความเร็วสูงเสร็จ จะมีรถไฟวิ่งผ่านถึง 61 จังหวัด จะทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน รถ บขส.จะหายไปหลายพันคัน ส่วนรถเมล์ ขสมก.จะเป็นตัวเชื่อม โดยรัฐบาลที่เข้ามาบริหารครึ่งปีนี้พยายามจะนำเส้นทางต่างๆ มารวมกันโดยในอนาคตจะได้เห็น 

ส่วนที่ถามว่ามีจังหวัดใดบ้างจะมีรถเมล์ รัฐบาลได้กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นแล้ว ให้เป็นผู้ประกอบการร่วมกับ บขส. และ ขสมก. ได้ เป็นเจตนาที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณะที่เท่าเทียมกัน แต่วันนี้การเชื่อมโยงกันเริ่มจะเป็นรูปธรรม แต่จะสำเร็จต้องอาศัยระบบราง โดยวันนี้ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในกทม.และปริมณฑลแล้ว ยืนยันรัฐบาลมีการวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว มาตลอด ส่วนเรื่องหมายเลขรถเมล์ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมรับฟังความเห็นทุกด้าน อันไหนเป็นประโยชน์กับประชาชนก็พร้อมไปปฏิบัติและทำ และใช้ประชาชนเป็นที่ตั้ง

จากนั้นนายศุภณัฐ กล่าวอภิปรายต่อเป็นคำถามที่ 3 ว่า ตั้งแต่รัฐบาลแถลงนโยบายมายังไม่เห็นการบูรณาการร่วมกันทั้งรถ ราง เรือ ทั้งเรื่องตั๋วร่วม และค่าโดยสารร่วมกันจะแพงสุดที่เท่าไร โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจะเข้าสู่ ครม. ภายในเดือนนี้ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ส่วนรายละเอียดต้องดูให้ชัดในชั้นกรรมาธิการว่าเป็นอย่างไร ส่วนการบูรณาการร่วม ยืนยันว่าภาษีที่กรมขนส่งเก็บภาษีล้อเลื่อนได้ส่งไปยังท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงฝากท้องถิ่นควรนำไปลงทุนและดูแลระบบขนส่งสาธารณะด้วย