ยอดลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 69 ลูกหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 139,762 ราย ส่วนเจ้าหนี้อยู่ที่ 108,683 ราย มูลหนี้รวม 9,670 ล้าน ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 11,938 ราย ย้ำ 29 ก.พ. 67 ลงทะเบียนวันสุดท้าย
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยความคืบหน้าผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 69 โดยเมื่อเวลา 15.00 น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง รายงานว่า มีประชาชนลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 139,762 ราย มูลหนี้รวม 9,670.648 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 117,639 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 22,123 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 108,683 ราย
พื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก
1.กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 11,107 ราย เจ้าหนี้ 7,873 ราย มูลหนี้ 847.628 ล้านบาท
2.จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,684 ราย เจ้าหนี้ 5,254 ราย มูลหนี้ 385.061 ล้านบาท
3.จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,176 ราย เจ้าหนี้ 4,119 ราย มูลหนี้ 339.230 ล้านบาท
4.จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,884 ราย เจ้าหนี้ 3,845 ราย มูลหนี้ 412.134 ล้านบาท
5.จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,684 ราย เจ้าหนี้ 2,579 ราย มูลหนี้ 319.743 ล้านบาท
จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก
1.จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 226 ราย เจ้าหนี้ 234 ราย มูลหนี้ 14.109 ล้านบาท
2.จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 321 ราย เจ้าหนี้ 236 ราย มูลหนี้ 21.979 ล้านบาท
3.จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 368 ราย เจ้าหนี้ 288 ราย มูลหนี้ 13.301 ล้านบาท
...
4.จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 446 ราย เจ้าหนี้ 331 ราย มูลหนี้ 20.148 ล้านบาท
5.จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 466 ราย เจ้าหนี้ 349 ราย มูลหนี้ 24.170 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 20,063 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 11,938 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 1,849.551 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,200.393 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 649.158 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,186 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 330 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 261.300 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 32.852 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 228.447 ล้านบาท
"สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดีไปแล้ว 260 คดี ใน 33 จังหวัด"
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยประชาชนที่ลงทะเบียน ฝ่ายปกครองจะเชิญทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอม แต่หากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายแก้ปัญหา นอกจากนี้ กลไกกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ได้บูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และธนาคารของรัฐในพื้นที่ ร่วมให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร พร้อมทั้งจัดหาแหล่งทุน แหล่งงาน แหล่งอาชีพ อำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม
"ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 22 วัน พี่น้องประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเราจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งการเดินทางไปขอคำปรึกษา และลงทะเบียน ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ (ลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ)"
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้เน้นย้ำให้ทุกอำเภอดำเนินการจัดกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้ อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง เพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบ ควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน โดยให้ทุกพื้นที่เร่งกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงกระตุ้นปลุกเร้าแพชชั่นของการทำหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันหยุด เพราะทุกหน่วยงานต่างมีเป้าหมายเดียวกันกับชาวมหาดไทย คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข.