“ฮุน มาเนต” นายกฯ กัมพูชา เยือนไทย ร่วมแก้ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ขณะ “ไทย-กัมพูชา” ลงนามและแลกเปลี่ยน MOU 5 ฉบับ เล็ง ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อน ยกระดับแก้ปัญหาหมอก ควัน ในภูมิภาค มุ่งเห็นความสันติสุขใน “เมียนมา”

เมื่อเวลา 10.20 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.กลาโหม ให้การต้อนรับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกฯ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยผู้นำไทยและกัมพูชาได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ก่อนร่วมหารือเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ

โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ว่า นายเศรษฐา ยินดีกับความร่วมมือทวิภาคีของทั้งสองประเทศที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายกฯ กัมพูชา ขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ ด้านความสัมพันธ์ นายกรัฐมนตรี ขอบคุณ สำหรับการสนับสนุนการเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ด้านการค้าขายและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนทวิภาคีให้มากขึ้น ด้านความมั่นคงพลังงาน ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า สถานการณ์โลกปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งไทยและกัมพูชา พร้อมตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแก้ไขปัญหาเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์ โดยเพิ่มการเฝ้าระวังตามแนวชายแดน ทั้งการป้องกันการลักลอบค้ายาเสพติด สินค้าเถื่อน และการกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ

...

โดยเมื่อเวลา 11.40 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา ระหว่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กับ H.E. General Kun Kim รัฐมนตรีอาวุโส และรองประธานคณะกรรมการบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติกัมพูชา

บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Hem Vanndy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Dr. Kun Nhem รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา

บันทึกความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank และฝ่ายกัมพูชา คือ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา และบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา

จากนั้น นายเศรษฐา และ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการแถลงข่าว ว่า ด้านความสัมพันธ์ ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมเรียบ ในขณะที่กัมพูชาจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในสงขลาภายในปีนี้ ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ไทยจะไม่ยอมให้ใครใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการแทรกแซงกิจการภายใน หรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อประเทศเพื่อนบ้าน และผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันกระชับความร่วมมือต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์ ด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่เรียกร้องที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นในการเก็บทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่นำร่อง เพื่อเป้าหมายในการทำให้พื้นที่ชายแดนปลอดภัย

นายชัย กล่าวอีกว่า ด้านเศรษฐกิจ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ ครั้งที่ 7 ในต้นเดือน มี.ค. พร้อมทั้งมีนโยบาย quick win ในการนำ MOU ว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าที่ได้ลงนามไปใช้ทันที เพื่อเพิ่มปริมาณการค้า ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการรวมจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน โดยตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการจัดตั้งสายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา ความร่วมมือในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน รวมถึงไทยได้เชิญกัมพูชาเข้าร่วมแผนปฏิบัติการ CLEAR Sky Strategy เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหานี้ในระดับภูมิภาค

นายชัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา ไทยและกัมพูชา ต่างต้องการที่จะเห็นเมียนมามีสันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ ซึ่งรัฐบาลจะแสดงบทบาทเชิงรุกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในเมียนมา และส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยดำเนินความร่วมมือพร้อมกับอาเซียน ในช่วงท้าย ผู้นำไทยและกัมพูชาเน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยจะร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 ซึ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน พร้อมทั้งยืนยันที่จะพบปะและหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดต่อไป