กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือ “สมาคมทองคำ” เร่งปราบ “แก๊งหลอกลงทุนทองออนไลน์” เตือนประชาชนระวังเพจปลอม เผยปีเดียวปิดโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับ Online Scams ไปแล้วกว่า 30,000 URLs และปิดกั้นเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล กว่า 1,400 URLs
วันที่ 6 ก.พ. 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (อีดี) พร้อมด้วย นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมหารือกับ นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำและคณะผู้แทนจากสมาคมค้าทองคำ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหามิจฉาชีพปลอมแปลงเฟซบุ๊กและเพจผู้ประกอบการร้านทอง หลอกหลวงผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า สมาคมค้าทองคำได้ประสานขอเข้าพูดคุยสะท้อนปัญหาพร้อมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นจำนวนมากว่าขณะนี้มีมิจฉาชีพปลอมแปลงเฟซบุ๊กเพจร้านค้าทองคำที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกของสมาคมค้าทองคำทำการเผยแพร่โฆษณาชักชวนหลอกให้มีการลงทุน และอ้างว่ามีการจ่ายเงินปันผลทุกวัน หรือให้ผลประโยชน์เกินจริงเพื่อจูงใจให้หลงเชื่อ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริโภคจำนวนมาก อีกทั้งยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจค้าทองคำ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ มิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ในการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการหลอกลวงให้มีการลงทุนซื้อทองคำออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มปลอม ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
...
“ผมหวังว่าการหารือในวันนี้จะเป็นโอกาสสำหรับกระทรวงดีอีและสมาคมค้าทองคำ ในการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหามิจฉาชีพปลอมแปลงเฟซบุ๊กของเพจผู้ประกอบการร้านทอง ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงเดือน 2567 กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปิดโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับ Online Scams บนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ไปแล้วกว่า 30,000 URLs และปิดกั้นเว็บไซต์โดยมีคำสั่งศาล กว่า 1,400 URLs” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว
ขณะที่ นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนเปลี่ยนจากการเก็บออม เป็นการลงทุนเพื่อการเก็งกำไรในทองคำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีวิธีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งการซื้อขายทองผ่านหน้าร้านทอง การลงทุนทองออนไลน์ รวมถึงการลงทุนทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพต่างอาศัยชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อร้านค้าทองคำ นำมาหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ และเกิดความเสียหาย โดยตัวอย่างของสมาชิกสมาคมที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จินฮั้วเฮง, YLG, ออโรร่า ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงต่อองค์กรโดยรวม ส่งผลทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน ขาดความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของบริษัท ซึ่งสมาคมเสนอให้มีขั้นตอนการปิดเพจปลอม โดยส่งข้อมูลยืนยันว่าเป็นเพจปลอมและแจ้งไปยังสมาคมค้าทองคำ เพื่อประสานงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปิดเพจปลอมนั้นต่อไป
โดยที่ผ่านมา ในปี 2566-2567 มิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการสร้าง Facebook และ TikTok ปลอมแทน โดยยกตัวอย่าง บจ.ฮั่วเซ่งเฮง มีการตรวจพบครั้งแรกในช่วง เดือนกันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบริษัทมีการเก็บข้อมูลการปลอมทั้ง 2 ช่องทางรวมกันทั้งสิ้น 40 บัญชี ดังนี้ 1. Facebook : จำนวน 14 บัญชี 2. TikTok : จำนวน 26 บัญชี โดยบริษัทได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายผ่านช่องทางต่างๆ จำนวน 44 เคส ความเสียหายโดยรวมประมาณ 20.8 ล้านบาท และความเสียหายของ บจ.ออโรร่า มีผู้เสียหายรวมถึง ลูกค้าของบริษัท เป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนผู้เสียหาย ที่ติดต่อเข้ามากับฝ่ายกฎหมายประมาณ 150 คน ค่าเสียหายโดยรวมประมาณ 60 ล้าน