นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แสดงความดีใจที่สามารถตกลงทำสัญญาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับศรีลังกาได้ จึงขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ร่วมเจรจากับภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่รัฐของศรีลังกา และเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสอันดี ที่บริษัทไทยจะได้ขยายธุรกิจเข้าไปในศรีลังกา

นับเป็นสัญญาการค้าเสรีฉบับที่ 15 ที่ไทยทำกับประเทศทั่วโลก แต่เป็นฉบับแรกของรัฐบาลเศรษฐา ไทยกับศรีลังกามีมูลค่าการค้าต่อกันประมาณ 11,300 ล้านบาท แม้จะเป็นมูลค่าที่ไม่มากนัก แต่นักวิชาการเชื่อว่าไทยอาจใช้ศรีลังกาเป็นประตูสู่การค้าเสรีกับเอเชียใต้ อันได้แก่ อินเดีย และปากีสถาน ในโอกาสต่อๆไป

เชื่อด้วยว่าสัญญาการค้าเสรีกับ ไทยจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจศรีลังกา ที่ประสบวิกฤติการเงินร้ายแรง เมื่อปี 2565 เนื่องจากเป็นหนี้ต่างประเทศถึง 1.6 ล้านล้านบาท และไม่มีเงินตราต่างประเทศ ที่จะนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร เชื้อเพลิง และอื่นๆ ฝูงชนก่อจลาจลบุกบ้านประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ด้วยการกู้เงิน 2.9 พันล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 4 ปี นับแต่เดือนมีนาคม 2566 ขณะนี้ศรีลังกาจึงอยู่ภายใต้การดูแลของไอเอ็มเอฟ รัฐบาลศรีลังกาชี้แจงว่าสถาน การณ์กำลังดีขึ้น

ส่วนรัฐบาลไทย นักเศรษฐศาสตร์ บางคนเสนอแนะให้เดินหน้าต่อเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งมี 27 ประเทศ (รวมกับอังกฤษ เป็น 28) ล้วน แต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย แต่ “อียู” ยุติการเจรจาการค้ากับไทย หลังรัฐประหาร 2557

สหภาพยุโรปเป็นประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนา จึงรังเกียจเผด็จการ ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการควํ่าบาตรในยุคเผด็จการ ส่วนรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารไทย คือ คสช. แม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจากัน

...

แต่รัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ น่าจะได้รับการยอมรับมากกว่ารัฐบาลที่สืบทอดจาก คสช. เมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีเยอรมนีเยือนไทย นอกจากพบเจรจากับรัฐบาลไทยแล้วยังขอพบและพูดคุยกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งโลกตะวันตกอาจถือเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แสดงว่ายอมรับประชาธิปไตยไทย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม