รมว.พม. ชื่นชมศักยภาพคนพิการแข่งขันกีฬาระดับโลก พร้อมหนุนคนพิการทุกแขนงให้มีงานทำในท้องถิ่น ย้ำ อัปสกิล-รีสกิล เดินหน้าไปด้วยกัน
วันที่ 4 ก.พ. 2567 ที่สวนรมณีนาถ กรุงเทพฯ สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย จัดงาน LIVABLE SCAPE FOR ALL ในงาน BANGKOK DESIGN WEEK 2024 โดยมี พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี, นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), อธิบดีกรมกีฬามวลชน พละ และศิลปะศึกษากระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประธานสหพันธ์กีฬาฟุตบอลคนพิการแห่งชาติลาว, นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, พลตรีโอสถ ภาวิไล เลขาธิการคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย, ผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ นายพรชลิต จุรารักษ์พงศ์ ผู้อำนวยการกองศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา, ดร. พัฒนพงศ์ พงษ์สกุล ผู้อำนวยการสำนักการกีฬา และนายปริญญา ถวัลย์อรรณพ ผู้อำนวยการกลุ่มกีฬาคนพิการและคนพิเศษ และผู้แทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
นายวราวุธ กล่าวว่า การที่คนคนหนึ่งจะเข้าใจและรู้สึกว่าคนตาบอดรู้สึกอย่างไร คนพิการรู้สึกอย่างไร ก็ด้วยการนำตัวของเราเองเข้าไปสู่สถานการณ์เช่นนั้น ความรู้เกี่ยวกับคนพิการนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความรู้ความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ คนพิการของประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกีฬาระดับโลก นักกีฬาคนพิการไทยมีผลงานดีกว่านักกีฬาปกติเสียอีก ตนเองในฐานะรองประธานมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องคนพิการ เคียงบ่ากันมาโดยตลอด วันนี้เป็นอีกครั้งที่จะมาให้กำลังใจกันเพื่อนำสังคมเดินไปข้างหน้า เศรษฐกิจสังคมต้องเดินไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรมนุษย์ทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ คนพิการเมื่อเทียบกับคนปกติเปรียบได้เป็นซุปเปอร์แมน เพราะเขามีเซนส์ในการรับฟังการเคลื่อนไหว ปัจจุบันนี้ กระทรวง พม. ได้จ้างคนตาบอดทำงานในศูนย์ฮอตไลน์ 1300 เพราะมีเซนส์ในการรับฟัง และมีประสาทหูดีกว่าคนทั่วไป ได้ยินถึงความเดือดร้อนของผู้ที่โทรศัพท์เข้ามา
...
“ผมขอให้กำลังใจกับคนตาบอด ผู้ฝึกสอนทุกคน เพราะการที่เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้จะต้องได้รับการสนับสนุนที่ดี ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้การสนับสนุนกับคนพิการทุกแขนง สนับสนุนให้มีงานทำในท้องถิ่น และขณะนี้กระทรวง พม. กับมหาวิทยาลัย จะมีการลงนามร่วมกันในการรับคนพิการเข้ามาอัปสกิล (Upskill) รีสกิล (Reskill) ให้คนพิการมีงานทำเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของสังคมไทย ทำให้คนพิการอยู่ในสังคมไทยอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน” นายวราวุธ กล่าว.