เกาหลีใต้ กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือน เม.ย.นี้ ปรากฏว่าพรรครัฐบาล พลังประชาชน เกิดสะดุดขาตัวเองจากกรณี กระเป๋าแบรนด์เนม ที่ภริยาของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอกยอล ไปรับกระเป๋าถือดิออร์ ราคาประมาณ 8 หมื่นบาท ที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด ห้ามมิให้คู่สมรสของเจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านวอน หรือประมาณ 26,700 บาท ถูกเอาไปเป็นประเด็นโจมตีในการหาเสียง กระทบกับเสถียรภาพของพรรครัฐบาลเต็มๆ ส่วนกฎหมายไทย ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญเกินกว่า 3 พันบาท เพราะฉะนั้นรับกัน กิโลครึ่ง 3 กิโล ก็ไม่น่าจะรอด อยู่กับว่าจะเอาจริงเอาจังหรือแค่หนังตัวอย่างบางตอนแล้วก็เงียบกันไป

สังคมในยุคดิจิทัล ตรวจสอบใครดีใครเลวยาก ตรวจสอบข่าวจริงข่าวปลอมยิ่งยากใหญ่ ใครก็ปล่อยข่าวได้ มีโทรศัพท์แค่เครื่องเดียว เสียวกันไปทั้งซอย สื่อออนไลน์อันตรายที่สุดเพราะไม่มีการควบคุม เป็นแหล่งทุจริตต้มตุ๋นหลอกลวงครบวงจร ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเท่าไหร่ อาชญากรรมทางไซเบอร์ก็จะเจริญงอกงามเท่านั้น

ที่ร้ายกว่านั้นคือ สื่อหลัก ก็กระโดดเข้าไปเล่นกับ สื่อออนไลน์ ที่เป็นแบบนี้เพราะ ผู้บริโภค หันไปเสพสื่อออนไลน์เป็นหลักมากกว่า สื่อหลักทั่วไป จากสถิติการเสพสื่อของคนไทยในปัจจุบัน คนไทยเสพสื่อจากโทรศัพท์มือถือไม่น้อยกว่าร้อยละ 68 หมายความว่า ข่าวทุกประเภท ความบันเทิงทุกแบบ กิจกรรมทุกอย่าง การเลือกซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทุกประเภท จบที่มือถือเครื่องเดียว

รองลงไปเป็นสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ มีแนวโน้มว่าสัดส่วนผู้บริโภคเสพสื่อจากออนไลน์จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่าในทุกๆปี พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะใช้เวลาในการเสพสื่อสั้น ไม่เกิน 3 นาที ทำให้ขาดรายละเอียดที่ชัดเจนของเนื้อหา นำไปสู่ทัศนคติที่ผิดพลาดหรือถูกชักจูงได้ง่าย

...

ในขณะที่สื่อหลักที่มีการกลั่นกรอง ผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอนกว่าจะผลิตข่าวมาได้แต่ละชิ้น ซึ่งก็จะแยกเป็นข่าวทั่วไปตามปกติและข่าวซื้อ แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปนิยมสื่อออนไลน์ สื่อหลักก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ฉะนั้นบางประเด็นที่มีต้นตอมาจาก สื่อออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ถูกนำมาขยายความต่อยอดจนเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ยกตัวอย่าง คดีน้องชมพู่ ที่กลายเป็นซีรีส์มาจนถึงวันนี้

เป็นการสร้างพื้นที่และสร้างโอกาสให้กับ กลุ่มคนที่ไม่สุจริต ทำให้เกิดนักร้องขึ้นมากมายที่มาจากหลายสาขาอาชีพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนเหล่านี้มากขึ้น แย่งตัวกันไปออกทีวี วิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ ถูกบ้างผิดบ้าง สังคมก็เชื่อไปแล้วเกิดกระแสนิยม เพราะเน้นแต่เรตติ้ง หรือปริมาณมากกว่าคุณภาพ ยิ่งเรตติ้งดีก็ยิ่งหาโฆษณาหาผู้สนับสนุนได้ง่ายมาก ขอให้ได้กระแสเรตติ้ง ถูกผิดไปว่ากันอีกที

เราสนใจแค่ว่า ใครจะทะเลาะกับใคร นักการเมืองคนไหน จะสร้างกระแสเป็นที่นิยม สร้างภาพได้มากกว่ากัน ไม่สนใจว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรมีสาระแค่ไหน ไม่เคยสนใจว่า ไบเดนจะตัดสินใจทำสงครามกับอิหร่านหรือไม่ จะส่งผลกระทบกับราคาพลังงานอย่างไร สนใจแค่ว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะแจกเมื่อไหร่ จะถูกคว่ำหรือไม่ แล้ว เพื่อไทย นายกฯเศรษฐาจะอยู่หรือจะไป ไม่สนใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ประเทศประชาชนจะได้อะไร เสพสื่อจนสำลัก.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม