ไทยรัฐ กรุ๊ปจับมือ 9 พันธมิตรภาครัฐและเอกชน เปิดเวทีระดมไอเดียขับเคลื่อนประเทศด้วย “ซอฟต์พาวเวอร์แบบไม่ซอฟต์” โดย “อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร” ย้ำที่รัฐบาลกำลังดำเนินการไม่ใช่เหล้าเก่าในขวดใหม่ มั่นใจซอฟต์พาวเวอร์ผลักดันเศรษฐกิจได้ มองซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่โปรดักส์ แต่เป็นพลังอำนาจที่ทำให้คนคล้อยตามหลงรักในเสน่ห์ของประเทศไทย ขณะที่วงเสวนา 3 กูรูด้านละคร อาหาร งานเขียน ประสานเสียงการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้สำเร็จได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แบบไม่ต้องยัดเยียดให้เป็นไทยอย่างเดียว

ที่สำนักงานใหญ่ไทยรัฐ กรุ๊ป อาคาร 17 ชั้น11 วันที่ 24 ม.ค. เวลา 14.00 น. ไทยรัฐ กรุ๊ป ประกอบไปด้วยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และ ไทยรัฐทีวี ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และครีมอาบน้ำ โซกุบุสซี โมโนกาตาริ จัดงานไทยรัฐฟอรัมรับศักราชใหม่ พ.ศ.2567 เสวนาซอฟต์พาวเวอร์แบบไม่ซอฟต์ ซื่อ Thairath Forum Soft Power Thailand’s Next Weapon โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นผู้เปิดเวทีเสวนาด้วยการพูดคุยยุทธศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียช่วยกันดันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเกิดขึ้นได้จริง ร่วมกับ น.ส.อรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทยเทเลวิชั่น จำกัด และผู้จัดละครดังบุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิต น.ส.อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจร้านอาหาร iberry Group และนายธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับและนักเขียนชื่อดังจากค่าย Salmon House ที่มาเสริมมุมมองเติมไอเดียสร้างสรรค์ผลักดันผลิตภัณฑ์ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่เวทีการค้านานาชาติ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย

...

ท่ามกลางบรรยากาศที่มีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ตลอดจนศิลปินคนบันเทิง เข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนทัศนะเป็นจำนวนมาก อาทิ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.สิริพร มูฮำมัด รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาด ททท. นายกรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไรมอนแลนด์ นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บจ.สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บจ.เดอะมอลล์ กรุ๊ป ป๊อก-ภัสสรกรณ์ และมาร์กี้ จิราธิวัฒน์ ศรีริต้า เจนเซ่น ณรงค์เดช ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ มดดำ-คชาภา ตันเจริญ ฯลฯ

ทั้งนี้ น.ส.จิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ กล่าวในการเปิดงานเสวนาตอนหนึ่งว่า เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากมายที่ยังไม่ถูกนำมาใช้เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้เกิดผลในวงกว้าง โดยธุรกิจเดิมๆ อุตสาหกรรมเดิมๆ อาจจะไม่มีแรงขับเคลื่อนมากเพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ท่ามกลางพลวัตของโลกที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก ส่วนตัวคาดหวังอย่างแรงกล้าและรอคอยที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ของนโยบายนี้อย่างใจจดใจจ่อ ถ้านโยบายนี้สามารถผลักดันให้เกิดเป็นอาวุธลับเศรษฐกิจตัวใหม่ขึ้นได้จริง จะช่วยดึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาในประเทศ สร้างเศรษฐกิจและเงินที่หมุนเวียนภายในประเทศได้ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นแล้วเติบโตไปข้างหน้าร่วมกันอย่างยั่งยืนและสมบูรณ์แบบสำหรับทุกคน

จากนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ขึ้นเวทีเสวนา ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ โดยย้ำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ที่ผลักดันโดยพรรคเพื่อไทย ทำเพื่อผลทางด้านเศรษฐกิจมีนโยบายด้านต่างประเทศช่วยผลักดันวัฒนธรรมไทยให้ไปสู่สายตาชาวโลก และซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่โปรดักต์ แต่เป็นพลังอำนาจที่ทำให้คนคล้อยตามหลงรักในเสน่ห์ของประเทศไทยที่มีหลากหลาย เช่น ละคร หนัง ดนตรี โดยในช่วงที่ผ่านมาจุดเริ่มต้นของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ มาจากการที่อยากให้คนไทยหลุดจากกรอบเดิมในการหาอาชีพ เพราะตำแหน่งต่างๆในการทำงานเดิมนั้นเต็มแล้ว จึงต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้คนในครอบครัวหาอาชีพอื่นได้ เช่น นอกจากทำนาทำสวน มองหาอุตสาหกรรมต่างๆเข้ามา เช่น อาหาร กับการสร้างเชฟร้านอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างอาชีพใหม่ และสร้างรายได้ พร้อมระบุด้วยว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่กำลังดำเนินการนี้ ไม่ใช่เหล้าเก่าในขวดใหม่ เพราะรัฐและเอกชนมาช่วยกัน และรัฐคือผู้อำนวยความสะดวก ทำให้เป็นระบบให้มั่นคง ยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้ บนเวทีเสวนา น.ส.แพทองธาร ยังได้ตอบคำถามจากผล “ไทยรัฐโพล” ที่สำรวจความคิดเห็นคนอ่านที่มีต่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ระหว่างวันที่ 15-22 ม.ค.ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,595 ราย ในคำถาม 3 ข้อ โดยคำถามแรก “คุณคิดว่าแผนงานของโครงการซอฟต์พาวเวอร์จะช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่” คนส่วนใหญ่ตอบว่า ทำได้ ร้อยละ 47 (750 ราย) ตามมาด้วย ไม่แน่ใจ ร้อยละ 26.6 (424 ราย) และตอบว่า ทำไม่ได้ ร้อยละ 26.4 (421 ราย) ซึ่ง น.ส.แพทองธารระบุว่าดีใจมากที่ผลโพลไทยรัฐเชื่อมั่นว่าทำได้ เพราะทุกอย่างกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ กำลังแก้กฎระเบียบต่างๆ ถ้าเรื่องที่ทำอยู่ไปโดนใจ เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาน่าจะเชื่อมั่นมากขึ้น

ขณะที่คำถามที่สอง “คุณคิดว่าโครงการซอฟต์พาวเวอร์จะทำให้รายได้ของคุณเพิ่มขึ้นได้หรือไม่” ปรากฏว่า คำตอบส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ได้ ร้อยละ 40 (636 ราย) และตอบว่า ได้ ร้อยละ 31 (498 ราย) ส่วนที่ตอบว่า ไม่แน่ใจ มีอยู่ร้อยละ 29 (461 ราย) น.ส.แพทองธารตอบว่า ถูกแล้วที่จำนวนมากตอบว่ายังไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนที่เราต้องรีสกิล ปรับทักษะคน ซึ่งไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ทำได้เลย แต่เราตั้งเป้าหมายได้ เช่น ตั้งเป้าหมายรีสกิลเชฟอาหารไทยได้ 1 หมื่นคนในปีนี้ และจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเมื่อ พ.ร.บ.ทักก้า (การจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency-THACCA) ผ่าน

ส่วนคำถามที่สาม “คุณคิดว่าอะไรคือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย” คำตอบที่พบเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหาร การท่องเที่ยว มวยไทย และมีคำตอบอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น คำตอบในกลุ่มศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ ซีรีส์วาย เพลงลูกทุ่ง หมอลำ ลิเก และโขน ส่วนคำตอบในหมวดอาหาร อาทิ สตรีตฟู้ด ข้าวหลาม ข้าวเหนียวมะม่วง และทุเรียนทอด นอกจากนี้ยังมีคำตอบเกี่ยวกับการสักยันต์ กิจกรรมสายมู และกางเกงลายช้าง ฯลฯ ซึ่ง น.ส.แพทองธารระบุว่า อาหาร การท่องเที่ยว และมวยไทย พร้อมผลักดันในปีนี้ให้เติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยอาศัยนโยบายต่างประเทศผลักดันอย่างเข้มแข็ง และมีระบบมากขึ้น

จากนั้นบนเวทีแลกเปลี่ยนไอเดีย การสร้างสรรค์เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เป็นจริงได้นั้น น.ส.อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ในฐานะผู้จัดละครดังอย่างบุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิต ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ละครเติบโต คือการรักษาคุณภาพ หรือสร้างคุณภาพคนและงาน คอนเทนต์เป็นสากล และต่างชาติยอมรับได้ ทุกคนเห็นความน่าประทับใจ หรือสิ่งที่ชาวต่างชาติประทับใจเรา ที่เราต้องรักษาส่งเสริม ส่งต่อ และทำต่อเนื่อง โดยไม่ได้จำเป็นต้องให้เป็นไทยอย่างเดียว และมีสื่อสารออกไปอย่างสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับ น.ส.อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจร้านอาหาร iberry Group ที่กล่าวถึงอาหารเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่ง มีความหลากหลาย รสชาติเอกลักษณ์ และทำให้มีเสน่ห์มากขึ้นได้อีกหากทุกคนช่วยกัน ทำให้อาหารเป็นอาวุธสำคัญ ผ่านการเล่าเรื่อง และคนมาเล่าก็สำคัญ ที่ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งใหม่ เล่าแบบฉลาดและมีการออกแบบที่ดี

ขณะที่มุมมองของ นายธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับและนักเขียนชื่อดังกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้สำเร็จ คือความคิดสร้างสรรค์ โดยเปรียบเทียบว่าความคิดสร้างสรรค์เหมือนการเปิดลิ้นชักไกลๆ หรือเล็กสุด ขณะที่คนทั่วไปจะเปิดลิ้นชักใกล้ตัวหรือใหญ่ก่อน ขณะที่อุปสรรคคือบางทีผู้ใหญ่บ้านเราชอบกลัวไปก่อนจนเกินไป และอย่าไปทำให้วัฒนธรรมแตะต้องไม่ได้ วัฒนธรรมคือวิถีชีวิต ไลฟ์ เชนจ์ คัลเจอร์ เชนจ์ และมรดกกับวัฒนธรรมต้องแยกออกจากกัน การทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องให้โอกาสในการเติบโต ต้องซอฟต์แฮนด์ อย่าเพิ่งไปคิดว่าไอเดียนี้จะส่งผลต่อมรดกวัฒนธรรมบ้าง อย่ากลัว เพราะความจริงแล้ว คนไทยครีเอทีฟ ตลกเก่ง กวน หยิบเล็กน้อยมาเล่นได้หมด ดังนั้น ต้องประคองอย่าควบคุม จะทำให้มีโอกาสเติบโตได้มาก ขณะเดียวกัน ซอฟต์พาวเวอร์ต้องค่อยๆสร้าง และปล่อยให้เติบโต อย่างเกาหลีใช้เวลา 40 ปี ซอฟต์พาวเวอร์ จึงไม่ต้องยัดเยียด ไม่ต้องตะโกนว่าไทย

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่