มติศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 ชี้ขาด “พิธา” พ้นบ่วงคดีถือหุ้นสื่อ แจงเหตุไอทีวีหยุดกิจการ ไม่มีสิทธิประกอบกิจการสื่อนับตั้งแต่ 7 มี.ค.50 หลัง สปน.บอกเลิกสัญญา รายได้มีแต่มาจากการลงทุนกับดอกเบี้ยรับ ฟันธงไม่เข้าลักษณะต้องห้าม ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ สส. “ทิม” โล่งอกคัมแบ็กเข้าสภาฯ ลั่นขอทำหน้าที่ สส.ให้สมกับที่รอคอย นัด 31 ม.ค. ควง “ชัยธวัช” ไปศาลฯลุ้นคดีล้มล้างการปกครองอีกยก จับตาประชุมใหญ่เลือก กก.บห.ชุดใหม่เดือน เม.ย. จ่อหวนคืนนั่งหัวหน้าพรรคสีส้มอีกครั้ง เพื่อนร่วมค่ายแห่แสดงความยินดีสุดคึกคัก นายกฯย้ำโครงการแลนด์บริดจ์ยังต้องคุยกันอีกเยอะ เปิดใจรับฟังรอบด้าน เผยไข้ขึ้นเลื่อนเข้าไปนอนในทำเนียบฯ “ภูมิธรรม” ย้ำทำแน่ดิจิทัลวอลเล็ต การันตี พท.คิดมาดีแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยคดีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง เนื่องจากเลิกกิจการไปแล้ว จึงไม่มีสถานเป็นสื่อ ส่งผลให้นายพิธาได้กลับเข้าไปทำหน้าที่ สส.ในสภาฯต่อไป

ศาล รธน.ชี้ขาดคดี “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี

เมื่อเวลา 09.30น.วันที่ 24 ม.ค. ที่อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณี กกต. (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆอยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ทั้งนี้ตั้งเเต่ช่วงเช้ามีการนำแผงรั้วเหล็กมากั้นโดยรอบทุกประตูทางเข้า-ออก พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยรักษาความสงบมากขึ้น ด้านหน้าสำนักงานติดตั้งแผงเหล็กกั้นเป็นแนวยาวตั้งแต่สำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษและมีรถจีโน่ฉีดน้ำกับรถควบคุมผู้ต้องหาเข้ามาจอดไว้บริเวณใกล้เคียง

...

“พิธา–ต๋อม” ถึงศาลมั่นใจความบริสุทธิ์

ต่อมาเวลา 12.45 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก. พร้อมนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. เดินทางมารับฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายพิธาให้สัมภาษณ์ว่า ขอขอบคุณประชาชนและสมาชิกพรรค ก.ก.ทุกคนที่คอยให้กำลังใจ ที่ทำงานหนักตลอดช่วง 6 เดือน ช่วยทำคำแถลงปิดคดี มั่นใจในข้อเท็จจริงและความบริสุทธิ์ของตัวเอง ได้เตรียมแผนการดำเนินงานของพรรคไม่ว่าผลออกมาอย่างไรจะทำงานเพื่อประชาชนต่อไป ไม่มีข้อกังวลใจ ไม่ว่าข้อเท็จจริงในอดีตหรือสถานการณ์ปัจจุบันรวมทั้งอนาคต ยังรับใช้พี่น้องประชาชนเหมือนเดิม เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าอาจซ้ำรอยกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายพิธากล่าวว่า หากศาลลงรายละเอียดกรณีนายธนาธรมีเอกสารที่พิจารณาได้ว่ายังประกอบกิจการได้ แต่กรณีบริษัทไอทีวี กสทช.ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีคลื่นความถี่ ไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ ที่สำคัญคือได้โอนหุ้นให้น้องชายแล้ว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทไอทีวี เมื่อถามว่าหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วจะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ตนและนายชัยธวัชไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมภาษณ์มีประชาชน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์จำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจ เมื่อสัมภาษณ์จบต่างกรูเข้ามาตะโกนเชียร์ว่า “นายกฯ พิธา” “นายกฯในดวงใจ”

เตือนคู่กรณีออกสื่อกดดันไม่เหมาะ

ต่อมาเวลา14.00น.องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยก่อนอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยแจ้งให้คู่กรณีทราบว่า คดีนี้ผู้ถูกร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน ศาลอนุญาตเพราะฉะนั้นคดีนี้ควรจะเสร็จสิ้นไปก่อน 60 วันที่แล้ว ไม่ใช่ว่าศาลล่าช้า นอกจากนี้ศาลขอแจ้งให้คู่กรณีทราบว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีทางสื่อต่างๆถือว่าเป็นการไม่สมควร ไม่เหมาะสม เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะบวกหรือลบก่อนศาลวินิจฉัยเป็นการชี้นำ กดดันศาล เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้ ถือว่าไม่เหมาะสม ขอเตือนไว้ด้วย

ชี้ไอทีวีหยุดดำเนินกิจการสื่อไปแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า แม้จากการไต่สวนฟังได้ว่า ไอทีวีทำกิจการโทรทัศน์ ผลิตสื่อ เป็นกิจการที่เป็นสื่อกลางในการส่งข่าวสารและเนื้อหาสาระไปสู่มวลชน ที่สามารถสื่อความหมาย ให้ประชาชนทราบทั่วไป แต่เมื่อแบบ สบช.3 ประกอบงบการเงิน ภงด.50 ในปี 2560-2565 ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีหยุดดำเนินกิจการดังกล่าว นับตั้งแต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญาตั้งแต่ปี 2550 ผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ทำให้สิทธิคลื่นความถี่ในไอทีวีกลับมาเป็นของ สปน. และไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่ที่ดำเนินการ ได้อีกต่อไป จนเกิดเป็นคดีพิพาทระหว่างคู่สัญญาเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน โดยไอทีวีมิได้เรียกร้องให้คืนสิทธิแก่ตนเองแต่อย่างใด ขณะนี้คดีพิพาทดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด กรณีเห็นได้ว่าข้อพิพาทคดีดังกล่าว หากท้ายสุดไอทีวีชนะคดี ก็มิได้มีผลให้ไอทีวีได้รับมอบคืนคลื่นความถี่ และดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ UHF ได้อีก ข้อเท็จจริงดังกล่าวสรุปได้ว่า ไอทีวี ไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการสื่อตามกฎหมาย ตั้งแต่ 7 มี.ค.2550 และการที่ไอทีวียังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ เพื่อดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่า ไอทีวีมีรายได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ

“ทิม”รอดไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ สส.

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการไอทีวี และประธานกรรมการที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีประจำปี 2566 เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ไอทีวีชนะคดี จะมีการพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท จะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ อาจประกอบกิจการสื่อ หรือประกอบกิจการอื่นตามวัตถุประสงค์ของบริษัทในวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจำนวน 45 ข้อก็ได้ เป็นเรื่องในอนาคต ยังมิได้มีการพิจารณาขณะนั้น แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ สปน.บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่าไอทีวีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสื่อ ตามกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ณ วันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง สส. ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้องตามคำร้อง จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

มติ 8 ต่อ 1 ไม่ใช่ผู้มีลักษณะต้องห้าม

จากนั้นเวลา 14.51 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว ใจความระบุตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรค ก.ก.ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี แต่ข้อเท็จจริงในคำไต่สวนรับฟังได้ว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 1 คนคือนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าสมาชิกภาพของ สส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

“ทิม” เฉยๆขอทำหน้าที่ สส.สมที่รอคอย

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.ให้สัมภาษณ์ภายหลังรอดคดีถือหุ้นไอทีวี ว่ารู้สึกปกติเฉยๆ ตั้งใจที่จะเดินหน้าทำงานต่อไป ภารกิจแรกก็จะแถลงแผนงานประจำปีของพรรค ก.ก.ตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนจะกลับเข้าสภาฯได้เมื่อไหร่นั้น จะให้วิปฝ่ายค้านหารือกับประธานสภาฯอีกครั้งว่าเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้เมื่อไหร่ เมื่อเข้าสภาฯแล้วจะทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรให้เต็มที่ ให้สมกับที่รอมา เมื่อถามว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค ก.ก.หรือไม่ นายพิธาตอบว่า ไม่น่าจะมีผลเกี่ยวข้องกัน วาระ กก.บห.พรรค ก.ก.คือครบ 4 ปี ว่าไปตามกระบวนการ ไม่เกี่ยวข้องกับรูปคดีวันนี้ เมื่อถามว่าถ้ามีการเสนอตำแหน่ง หัวหน้าพรรคกลับคืน นายพิธากล่าวว่า ยังไม่มีเรื่องนี้ ณ ตอนนี้

31 ม.ค.มาศาลลุ้นต่อคดีล้มล้างฯ

เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลเตือนเรื่องที่ไปแสดงความคิดเห็น นายพิธากล่าวว่า ระมัดระวังมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้อเตือนว่าเราเลื่อนไป 2 ครั้ง ยอมรับว่าเป็นฝั่งของตนเองที่เป็นคนขอยื่น เพื่อความละเอียดถี่ถ้วน ในส่วนของการให้สัมภาษณ์ยืนยันระมัดระวังมาตลอด และจะระมัดระวังต่อไป แต่บางครั้งมีข้อมูลไม่ถูกต้อง อาจเป็นความเข้าใจผิดของสื่อมวลชน จำเป็นต้องอธิบายเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดและเข้าใจข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เมื่อถามว่าการทำงานการเมืองขณะที่ยังมีคดีอื่น ต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ขอให้รอฟังในแผนงานของพรรค ก.ก. คงไม่เกี่ยวข้องกัน ส่วนจะทำงานการเมืองแบบไหน คงต้องเอาความเดือดร้อนประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาศักยภาพประเทศเป็นที่ตั้งว่าเราควรทำงานอย่างไรต่อไปในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก สำหรับคดีพรรค ก.ก.เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯหรือไม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินในวันที่ 31 ม.ค.จะเดินทางมารับฟังผลคำตัดสินด้วย เมื่อถามว่ากังวลใจหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า มั่นใจในการทำงานของฝ่ายกฎหมายของพรรคและข้อเท็จจริง

ปัดให้ฝ่าย ก.ม.ดำเนินคดี กกต.

นายพิธากล่าวว่า จะเดินทางเข้าสภาฯเลยหรือไม่นั้น ต้องรอกระบวนการจากศาลรัฐธรรมนูญและสภาฯก่อน วิปจะหารือกับประธานสภาฯว่าจะเข้าไปได้เร็วมากน้อยแค่ไหน และให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอยู่ว่าเมื่อคำวินิจฉัยประกาศต่อสาธารณชน แล้วมีความผูกพันต่อสององค์กร สามารถให้ตนกลับเข้าไปทำงานได้เมื่อไหร่ แต่ตนก็ดูเรื่องวาระการประชุมเอาไว้แล้ว เมื่อถามว่าจะมอบให้ฝ่ายกฎหมาย ดำเนินคดีกับ กกต.หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า “ไม่มีครับ” เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้ สส.พรรค ก.ก.ได้แสดงความยินดีในที่ประชุมสภาฯ นายพิธากล่าวว่า คิดถึงทุกคนและจะรีบกลับไปเสริมทัพ ไปทำงานกับเพื่อนๆพรรค ก.ก.ทุกคนแน่นอน ถ้าไฟเขียวให้กลับเข้าสภาฯเมื่อไหร่จะกลับเข้าไปตอนนั้น เมื่อถามว่าตอนนี้กองเชียร์ยังเรียกว่า “นายกฯ” นายพิธากล่าวว่า ตอนนี้ก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามลิสต์อยู่ ถ้ามีอุบัติเหตุ ตนยังเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค ก.ก.

สส.ก้าวไกลสุดคึก “พิธา” พ้นบ่วง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเดียวกัน ช่วงที่มีการพิจารณาวาระการขอให้สภาฯพิจารณามาตรการป้องกันสร้างความปลอดภัยและแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากกรณีโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ที่เสนอโดยนายสุรชัด สุจิตต์ สส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นจังหวะเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังอ่านคำวินิจฉัย เรื่องสถานะเป็น สส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.กรณีการถือครองหุ้นไอทีวี ปรากฏว่า สส.พรรคก้าวไกลหลายคนต่างมาจับกลุ่มรวมตัวกันในห้องประชุม เพื่อติดตามการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด ทันทีที่ทราบว่านายพิธาไม่สิ้นสุดสถานะการเป็น สส. บรรดา สส.ร่วมพรรคต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเข้ามาจับมือแสดงความยินดีกันภายในห้องประชุม

โวยเอกสารยกคำร้องยังไม่ถึงสภาฯ

กระทั่งเวลา 15.30 น.หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่ต้องสิ้นสุดสถานะเป็น สส. สภาฯได้แก้ไขตัวเลขหน้าจอจำนวน สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้กลับมาเป็น 500 คนตามเดิมจากที่ลดเหลือ 499 คน เพราะนายพิธาถูกยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว กระทั่งเวลา 16.00 น. ระหว่างที่ประชุมสภาฯกำลังเข้าสู่วาระการขอให้สภาฯ ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.หารือต่อที่ประชุมว่า น่ายินดีขณะนี้มี สส.กลับมาเป็น 500 คนอีกครั้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายพิธาไม่สิ้นสถานะสส. แต่ขอสอบถามว่าวันที่นายพิธาถูกยุติปฏิบัติหน้าที่มีการส่งเอกสารมาที่สภาฯทันที ให้นายพิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. แต่พอวันนี้ผ่านมา 1 ชั่วโมงกว่าแล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง แต่เหตุใดยังไม่มีเอกสารมาถึงสภา แม้ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาฯจะบอกว่านายพิธากลับมาทำหน้าที่ได้ทันที แสดงว่าหากมีการลงมติใดๆในวันนี้ นายพิธามาลงมติได้ใช่หรือไม่ ขอคำยืนยันว่าสถานะ สส.นายพิธากลับมาโดยสมบูรณ์แล้วใช่หรือไม่ หรือต้องรอคำวินิจฉัยเอกสารอย่างเป็นทางการก่อน

ปดิพัทธ์ สันติภาดา
ปดิพัทธ์ สันติภาดา

“ปดิพัทธ์” จี้สอบเอกสารมาล่าช้า

ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมชี้แจงว่า ได้รับทราบจากเลขาธิการสภาฯว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลทันทีตั้งแต่มีการตัดสิน ไม่ต้องรอเอกสารใดๆ แต่อย่างไรต้องรอความสมบูรณ์ให้ครบถ้วนตามขั้นตอนธุรการ เลขาธิการสภาฯจะติดตามจนกว่าจะได้หนังสือ และจะตรวจสอบว่าเหตุใดหนังสือจึงล่าช้าแตกต่างจากตอนสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้เมื่อเวลา 15.30 น. สภาฯได้ปรับตัวเลข สส.ทันทีที่นายพิธาได้รับการตัดสินจาก 499 คนเป็น 500 คน ตอนนี้มี สส.ครบ 500 คน นายพิธากลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่นายณัฐวุฒิยังซักถามเพิ่มเติมว่า หากวันนี้มีการลงมติในที่ประชุม นายพิธามาลงมติได้ใช่หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรอหนังสือใดๆแล้วใช่หรือไม่ นายพิธามาเซ็นชื่อเข้าประชุมได้ในวันที่ 25 ม.ค.หรือไม่ นายปดิพัทธ์ชี้แจงว่า การจะมาปฏิบัติหน้าที่ทันทีวันที่ 24 ม.ค.ขอเวลาตรวจสอบข้อกฎหมายและระเบียบก่อน แต่ถ้าวันที่ 25 ม.ค.มั่นใจว่านายพิธามาได้แน่นอน ได้ให้เลขาสภาฯตรวจสอบประเด็นที่ซักถามแล้ว เพื่อให้ชัดเจน จะแจ้งให้พรรค ก.ก.ทราบ

ให้สิทธิ “พิธา” กลับเข้าสภาฯได้ทันที

ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่าการกลับเข้าสู่สภาฯของนายพิธา สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง ส่วนต้องรอเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญส่งมายังสำนักงานเลขาธิการสภาฯก่อนหรือไม่ ทางธุรการจะมีหนังสือแจ้งมาตามขั้นตอน แต่จากที่ดูตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือว่ามีผลตั้งแต่อ่านคำวินิจฉัยแล้ว นายพิธาเดินกลับเข้ามาลงชื่อและเข้าห้องประชุมสภาฯได้ทันที สำหรับเงินเดือน สส.ของนายพิธา จะดำเนินการย้อนหลังให้

“พิธา” โพสต์ทำงานต่อไม่รอเเล้วนะ

ช่วงเย็น หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก. ไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพ สส.จากคดีหุ้นไอทีวี นายพิธา ได้โพสต์ภาพบนเฟซบุ๊กทันที เป็นภาพกราฟิกเขียนข้อความ ระบุว่า ขอบคุณทุกกำลังใจ เดินหน้าทำงานต่อไม่รอแล้วนะ และนายพิธาได้เขียนแคปชันประกอบภาพสั้นๆ ว่า ขอขอบคุณทุกกำลังใจครับ ขณะที่บรรดา สส.พรรค ก.ก.ต่างพร้อมใจกันแสดงความยินดีกับนายพิธาบนโลกโซเชียลมีเดียกันอย่างคึกคักเป็นพิเศษ อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส.บัญชีรายชื่อพรรค ก.ก. โพสต์รูปตนเองกำลังกอดกับนายพิธาบนเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมข้อความระบุว่า “ดีใจมากๆที่นายกลับมา”

รุดรับขวัญลูกสาว “โรม” เพิ่งคลอด

นอกจากนี้ นายพิธาได้เดินทางไปเยี่ยม ด.ญ.ริเวียรา โรม หรือน้องไอวี่ (Ivy) ลูกสาวของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่เพิ่งคลอดมาลืมตาดูโลกเป็นวันเเรกในวันเดียวกันกับที่นายพิธาพ้นคดีถือหุ้นสื่อไอทีวีพอดิบพอดี โดยนายรังสิมันต์ได้โพสต์ภาพนายพิธา เข้าเยี่ยม “น้องไอวี่” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมแคปชันระบุว่า “วันนี้มีแต่เรื่องดีๆครับ ยินดีกับพี่ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขอต้อนรับสู่สภาฯ อีกครั้งครับ”

นัดสื่อหวนคืนเวทีกลับเข้าสภาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมประชาสัมพันธ์พรรค ก.ก.ได้เเจ้งกำหนดการทำงาน ผ่านไลน์สื่อมวลชนประจำพรรค ก.ก.ว่า นายพิธาเตรียมจะเดินทางกลับเข้าสภาฯ ในวันที่ 25 ม.ค. เวลา 10.30 น. โดยใช้ประตูใหญ่โถงทางเข้าฝั่ง สส.ชั้น 1 และให้สัมภาษณ์สั้นๆแก่ผู้สื่อข่าวด้วย

จับตาจ่อคัมเเบ็ก หน.พรรคหลัง เม.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ คือการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ก.ก.อีกครั้งของนายพิธา ในช่วงเดือน เม.ย.2567 หรือไม่ เนื่องจากจะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พรรคก.ก. เพื่อเลือก กก.บห.ชุดใหม่ รวมไปถึงอาจมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคด้วย ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. เคยให้สัมภาษณ์ย้ำกับสื่อหลายครั้งว่า ไม่ยึดติดตำแหน่งหรือหัวโขนหากพรรค ก.ก. และนายพิธา ไม่มีปัญหาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นว่าสมาชิกพรรคจะเลือกนายพิธากลับมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่อีกรอบหนึ่ง หลังเดือน เม.ย.2567

สมชาย แสวงการ
สมชาย แสวงการ

“สมชาย” ไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยศาล

นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็น สส. กรณีการถือหุ้นไอทีวีว่า น้อมรับ ไม่ขอก้าวล่วงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยังเชื่อมั่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ขอแสดงความยินดีกับนายพิธาที่ได้คืนสถานะ สส. ขอให้ทุกฝ่าย เช่น แฟนคลับพรรคก้าวไกลเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นคุณหรือโทษกับฝ่ายใด ส่วนกรณีที่ให้ความเห็นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เป็นเพียงความเห็นส่วนตน แต่รายละเอียดการพิจารณาของศาลหรือรายละเอียดการต่อสู้คดีของนายพิธาจนหักล้างคำร้องและทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการจนมีผลคำวินิจฉัยดังกล่าว ไม่ทราบและไม่ขอก้าวล่วง อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายพิธาอาจมีประเด็นให้พิจารณาตามมา ทั้งกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อาจทวงสิทธิของตนเอง เพราะกรณีการถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด พบว่าไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ แต่บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว กรณีการถือหุ้นสื่อของนักการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญวางมาตรฐานต่างกัน อาจมีประเด็นเนื้อหาคดีและข้อเท็จจริงที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน ไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัย ขอให้ไปลุ้นคดีพรรค ก.ก.ต่อในสัปดาห์หน้า

สื่อ ตปท.ตีข่าว ‘พิธา’ พ้นคดี

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก อาทิ รอยเตอร์ ซีเอ็นเอ็น บีบีซี เอเอฟพี รายงานบรรยากาศหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ สส.จากคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี มีประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล หลั่งไหลเข้ามาให้กำลังใจนายพิธา ต่างตะโกนโห่ร้องเรียก “นายกฯพิธา” อย่างคึกคัก ส่วนสำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า นายพิธา ยังคงเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯของพรรคก้าวไกล นายพิธายังระบุด้วยว่า จะกลับมาทำหน้าที่ในรัฐสภาเร็วๆนี้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะกลับมาเมื่อใด อย่างไรก็ตามแม้นายพิธาจะรอดคดีถือหุ้นสื่อ แต่ในวันที่ 31 ม.ค.ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีที่พรรคก้าวไกลจะปฏิรูปมาตรา 112 เข้าข่ายเป็นการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยนายพิธาไม่ได้แสดงท่าทีกังวลต่อคดีดังกล่าว

นายกฯย้ำแลนด์บริดจ์ต้องคุยอีกยาว

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ตอนหนึ่งได้กล่าวถึง “โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน” หรือ “แลนด์บริดจ์” ว่าเป็นเมกะโปรเจกต์ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ถกเถียงในวงกว้างยืนยันว่ารัฐบาลรับฟังทุกเสียงของประชาชน ทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชนพื้นเมือง ทุกอย่างรัฐบาลรับฟังและต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนด้วยว่าเขาอยากได้อะไร แล้วต้องเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องมากลั่นกรองว่า สิ่งที่เขาขอมาจะเป็นผลบวกหรือลบกับประชาชนยังไม่ทราบเลยว่าจะมีท่อส่งน้ำมันหรือไม่ อาจเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยากให้เขามาลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อยากรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา รัฐบาลจะได้ดีไซน์หรือออกแบบว่าควรมีอะไรบ้าง แลนด์บริจด์ต้องพูดคุยกันอีกเยอะพูดคุยกันอีกยาวโดยเฉพาะการร่วมลงทุน คาดว่าต้องใช้เวลากว่า 10 ปีถึงจะแล้วเสร็จทั้งหมด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องพูดคุยกันทุกมิติให้ดี แต่เรื่องโอกาสเป็นเรื่องที่สำคัญไม่อยากให้เรามาเสียโอกาสกันอีก ส่วนที่ยังมีการคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ หลังลงพื้นที่ จ.ระนอง คนสนับสนุนโครงการนี้มีเยอะมาก แต่ก็รับฟังความเห็นต่าง

โอ่ รบ.เลือกตั้งลงพื้นที่จริงทำจริง

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องจีโอ โพลิติกส์ (Geo politics) หรือภูมิรัฐศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนใหญ่ๆ และจุดยืนการต่างประเทศ ที่เป็นกลางตลอด ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศใด เชื่อว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆที่จะทำขึ้นแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ เราจะสร้างอำนาจต่อรองกับทุกประเทศได้เราตั้งใจจริงที่จะทำสิ่งต่างๆ แต่ปัญหาอุปสรรคมีเยอะ หลายอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุมถูกปลดล็อกไปแล้วส่วนหนึ่ง น่าชื่นชมไปถึงทีมงานกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ราคาสินค้าเกษตรต่างๆเริ่มราคาสูงขึ้น เกิดจากรัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่จริง ทำงานจริง เพราะเราเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เราต้องพึ่งประชาชน ต้องเห็นใจประชาชน เรามีความตั้งใจจริง อยากเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น การสร้างโอกาสต่างๆ ที่พูดไปทั้งหมด เชื่อว่าจะสร้างฐานรากที่ดีให้ประเทศไทยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลานของพวกเราทุกคน

“อ้วน” ย้ำคิดดีแล้วแจกเงินดิจิทัล

ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกฯและ รมว. พาณิชย์ กล่าวถึงความชัดเจนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.ยังไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ แต่ได้รวบรวมความคิดเห็นมาทั้งหมดแล้ว เอาเป็นว่าจะใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชนและต้องแจกให้ได้มากที่สุดเพื่อกระจายกำลังซื้อ แต่ขอพิจารณาข้อวิจารณ์ท้วงติงทั้งหมดก่อน ยืนยันว่า พร้อมทำอย่างแน่นอน โดยจะประชุมคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่นัดถัดไปในเร็วๆนี้ ขออย่าไปดูปลายทาง ให้ไปดูต้นทางว่าเราทำได้เมื่อไร นโยบายใดๆที่ได้หาเสียงไว้ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว เมื่อผ่านการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วขอให้เราได้ทำงาน หากผิดพลาดเสียหายต้องรับผิดชอบไปตามนั้น

นายกฯไข้ขึ้นเลื่อนนอนที่ทำเนียบฯ

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง กล่าวถึงการเลื่อนกำหนดการนอนค้างที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 24 ม.ค.ว่า เนื่องจากติดภารกิจเข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีอาการไม่สบายไม่ไหวขอเลื่อนไปก่อน มีอาการเป็นหวัดและมีไข้เล็กน้อย แต่ไม่เป็นอะไรได้รับการตรวจแล้วไม่ได้เป็นโควิด เมื่อถามว่ามีกำหนดการที่จะเข้าพักค้างที่ทำเนียบฯอีกเมื่อไหร่ นายเศรษฐาตอบว่า “ยัง ตอนนี้เอาเรื่องงานก่อนดีกว่า ต้องดูภารกิจงานในเดือน ม.ค.นี้ก่อน ผมยังไม่สามารถตอบได้”

ตรวจความพร้อมรอรับ ปธน.เยอรมัน

ต่อมาเวลา 10.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังเดินทางกลับจากกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Thailand 2024 The Great Challnge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ เข้าทำเนียบฯ นายเศรษฐาได้สั่งให้หยุดรถลงเดินตรวจความเรียบร้อยเพื่อเตรียมการต้อนรับนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี ที่เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลในวันที่ 25 ม.ค.พร้อมกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ อาทิ การซักซ้อมของทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ห้องสีงาช้าง ตึกสันติไมตรี ห้องเซ็นลงนาม ห้องเลี้ยงรับรอง เป็นต้น ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า หารือกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ

ไทย–ซาอุฯจ่อลง MOU สาธารณสุข

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ต่อยอดมาจากความพยายามที่นายกฯเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) เมื่อวันที่ 20-21 ต.ค.2566 โดยจะลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ด้านสาธารณสุขระหว่างไทย-ซาอุฯ ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 เพื่อผลักความเข้มแข็งและความมั่นคงของระบบสาธารณสุขของ 2 ประเทศ ขยายโอกาสความร่วมมือในมิติอื่นๆ

กมธ.เกาะติดคดีหมู–ตีนไก่เถื่อน

ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม.พรรคก.ก. และโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาฯแถลงว่า ได้เชิญ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ชี้แจงข้อมูลกรณีลักลอบสวมสิทธิ์นำเข้าหมูเถื่อนและตีนไก่ส่งออกไปจีน กมธ.รับทราบข้อมูล 3 กรณี 1.กรณีเนื้อหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือ 161 ตู้ 10 คดี 2.กรณีเนื้อหมูเถื่อนที่ผ่านแดนเข้ามา 2,388 ตู้ 1 คดี และ 3.กรณีขบวนการนำเข้าตีนไก่และสวมสิทธิ์ส่งไปจีน 1 คดี ปัจจุบันดีเอสไอ และ ปปง. สืบสวนสอบสวน ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดแล้ว 3 คดี จาก 12 คดี ที่เหลืออีก 9 คดี อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน ขยายผลถึงผู้อยู่เบื้องหลังว่าจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือไม่ โดยกมธ.มีมติตั้งคณะทำงานตรวจสอบให้ถึงที่สุด

“ถวิล” บี้อัยการอุทธรณ์คดี “ปู” สั่งย้าย

เมื่อเวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา นายถวิล เปลี่ยนศรี สว.ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่น คงแห่งชาติ (สมช.) แถลงถึงการยื่นเรื่องขอให้อัยการสูงสุดอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ สั่งแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมว่าคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ผู้ยื่นอุทธรณ์คดีได้คืออัยการ ขณะนี้ใกล้ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันในวันที่ 26 ม.ค. ร้อนใจเพราะอยากให้เรื่องไปถึงที่สุด ไม่ใช่ต้องการเอาชนะคะคานหรือเจ็บแค้น เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดขอให้ยื่นอุทธรณ์ หวังว่าอัยการสูงสุดจะเห็นความสำคัญไม่ปล่อยให้คดีจบไปในชั้นต้นโดยที่ยังมีความสงสัยกันอยู่ หากเลิกกลางคันจะเป็นที่เคลือบแคลง แต่ถ้าไปถึงที่สุดแล้วแพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ อยากรักษากระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งประชาชน สร้างความเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ให้เรื่องนี้มาเป็นจุดเล็กๆทำให้อัยการมีมลทิน

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่