“ไอติม พริษฐ์” เผย พรรคก้าวไกล เห็นพ้อง กับพรรคเพื่อไทย ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 % และเดินหน้าทำประชามติแค่สองครั้ง เชื่อไม่ขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำ ต้องจับมือกันแน่น โน้มน้าว สว.ให้เห็นชอบ
วันที่ 23 ม.ค. 2567 เมื่อเวลา 10.50 น. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ สส. ของพรรคเพื่อไทยกว่า 120 คน ได้ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ที่ผ่านมา สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ การทำประชามติครั้งที่ 2 และ 3 ถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัย 4/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่แล้ว
ข้อถกเถียงหลัก จึงอยู่ที่การทำประชามติครั้งแรกจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน บางฝ่ายมองว่า คำวินิจฉัยกำหนดให้ทำประชามติก่อน ส.ส.ร.จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะบางฝ่าย โดยเฉพาะ สว. มองว่า ต้องทำประชามติก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่สภา
นายพริษฐ์ กล่าวยืนยันว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอว่า ตามหลักกฎหมายการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว ส่วนที่หลายฝ่ายยึดว่า ต้องทำประชามติครั้งแรก อาจมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะถ้าเริ่มด้วยคำถามประชามติครั้งที่ 2 เริ่มต้นด้วยการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร. ไปเลย อาจมี สว. บางส่วนไม่ยกมือให้ โดยอ้างว่าต้องทำประชามติครั้งแรกก่อน
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลไม่ติดใจกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย และพร้อมให้ความร่วมมือ ต่อไปนี้จะมีโจทย์สำคัญคือ ทั้งสองพรรคต้องร่วมมือกันหาแนวทางโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาทุกส่วน โดยเฉพาะ สว. เห็นชอบ กับการทำประชามติ 2 ครั้ง
...
อีกโจทย์คือในเชิงรายละเอียด ทั้งรูปแบบและที่มาของอำนาจ ส.ส.ร. โดยพรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างแก้ไขที่จะยื่นประกบกับร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน
ในส่วนที่เราเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยคือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ร. อยู่ที่ 18 ปี แต่จุดที่เห็นต่างกับพรรคเพื่อไทย คือระบบเลือกตั้ง ความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.ร. กับรัฐสภา และอำนาจของ ส.ส.ร. ในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะใช้กลไกของรัฐสภา ในการหาข้อยุติความเห็นต่างเหล่านี้
นายพริษฐ์ ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่ศาลรัฐธรรมนูญ อาจวินิจฉัยจำนวนครั้งที่จะต้องทำประชามติมา จึงมั่นใจว่า ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันในหลักการ ว่าการทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว และหวังให้รัฐสภาหาทางออกกันเอง แต่ยังมีช่องให้คนที่เห็นแย้งยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อยู่
สำหรับความเสี่ยงเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น ต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยังมีอยู่ แต่ในแนวทางการทำประชามติ 2 ครั้ง อาจจะมีแนวทางที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่า คือแนวทางคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ตั้งคำถามการทำประชามติครั้งแรก ที่สอดไส้เงื่อนไขหมวด 1 และหมวด 2 อาจส่งผลให้การลงคะแนนของประชาชนไม่เป็นเอกภาพ และโอกาสที่การทำประชามติครั้งแรกผ่านลดน้อยลง
ในส่วนการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 ไปพร้อมกับการเสนอตั้ง ส.ส.ร. นั้น ทางพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยืนยันตรงกัน ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามให้ทำเช่นนี้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นข้อถกเถียงที่เคยทำให้กระบวนการนี้สะดุดไปในปี 2564
“พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อพยายามช่วยโน้มน้าวให้ สว. รวมถึง สส. จากบางพรรคที่ร่วมรัฐบาลอยู่ หันมาเห็นชอบ และพร้อมยกมือสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 256 และ ส.ส.ร. โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน” นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย