“พิธา” ร่วมกิจกรรมวันเด็ก 2567 ที่มิวเซียมสยาม ชี้ งบประมาณเพื่อสนับสนุนความฝัน ความคิด และความเชื่อของเด็กๆ สำคัญกว่าการให้คำขวัญ และเด็กทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียม ในการเข้าถึงทรัพยากร
วันที่ 13 มกราคม 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สส.กรุงเทพมหานคร เขต 1 พรรคก้าวไกล และ นายฆนัท นาคถนอมทรัพย์ ผู้อำนวยการปีกวัฒนธรรม พรรคก้าวไกล เข้าร่วมกิจกรรมวันเด็ก ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีบูธต่างๆ ภายใต้ธีม Play เช่น Play Gallery เล่นเล่าเรื่อง, Play Gourmet เล่นรู้รส, Play and Growth เล่นล่าฝัน โดย นายพิธา แวะเยี่ยมชมบูธ Play Grooming หรือ เล่น Learn เพลิน ซึ่งเป็นบูธที่เน้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็ก ฝึกระบายสี ประกอบของเล่นไม้ เช่น ว่าว ลูกข่าง คอปเตอร์ไม้ไผ่ เข้าชมนิทรรศการที่ทางมิวเซียมสยามจัดขึ้น อย่าง Play Give ที่เน้นด้านการแบ่งปันให้ของเล่นกับเด็กทุกคน และกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อให้เด็กๆ ติดตามการเติบโตของต้นไม้ที่ตนปลูก พร้อมทั้งร่วมรับฟังการละเล่นดนตรีของนักเรียนที่แสดงในงานอีกด้วย
พร้อมกันนี้ นายพิธา ยังได้ให้ความเห็นแก่ผู้สื่อข่าวเรื่องคำอวยพรเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ว่า ตนไม่มีคำอวยพรคำขวัญใดๆ นอกจากคำมั่นสัญญาว่า อยากจะให้ทุกวันเป็นวันเด็ก ไม่ใช่แค่วันใดวันหนึ่งที่เรามาพบปะกันที่เราเล่นกันเล็กน้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือการมีพื้นที่แบบภายในงานนี้ แบบที่ทุกหน่วยงานจัดขึ้นในวันเด็ก เพื่อให้เด็กๆ มีพื้นที่ในแสดงออกการเป็นตัวของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องประนีประนอม
“งบประมาณเพื่อสนับสนุนความฝัน ความคิด และความเชื่อของเด็กๆ นั้นสำคัญกว่าการให้คำขวัญ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีส่วนร่วมพัฒนารากฐานของเด็กๆ ทุกคนให้มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ใช่เพียงแค่ระบบการศึกษา แต่ยังหมายรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมด้วย”
...
พร้อมกันนี้ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงวิสัยทัศน์การลงทุนในทุนมนุษย์ ว่า ต้องไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมวันเด็กวันเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกแบบงบประมาณที่ใช้พัฒนารากฐานของเด็กและเยาวชนไทย พร้อมยกตัวอย่างมิวเซียมสยามที่จัดกิจกรรมในวันนี้ หากรัฐเห็นความสำคัญ ควรมีงบลงทุนในส่วนของพิพิธภัณฑ์หรือองค์กรจัดการความรู้ ซึ่งจะเป็นทั้งสถานที่จุดประกายให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน ทำให้ทุกคนที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีความสุขในการได้รับชม และเป็นระบบจัดเก็บความรู้ที่รัฐควรลงทุนในระยะยาวอีกด้วย
ขณะเดียวกัน นายพิธา ยังเผยในฐานะคุณพ่อและนักการเมืองที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและการให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ ว่า การเรียนในโรงเรียนควรปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ควรเน้นกิจกรรมนอกโรงเรียน (outdoor) มากกว่าการนั่งเรียนในชั้นเรียน (indoor) และเน้นการเรียนรู้ (learning) ให้มากกว่าระบบการศึกษา (education) และอยากเห็นการส่งเสริมให้เด็กๆ หาประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย มากกว่าการเรียนแบบดั้งเดิมที่เน้นการท่องจำซ้ำๆ การเข้าเดินในพิพิธภัณฑ์มากกว่าเดินห้างสรรพสินค้า การเพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการเพื่อให้ผู้ปกครองมีเวลากับบุตรหลานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการพูดคุยเข้าใจกันร่วมกันตั้งคำถาม (Talk with) แทนที่จะเป็นการออกคำสั่ง (Talk at) แม้แต่มุมมองในบริบทของผู้ใหญ่หรือนักการเมืองที่ควรให้สำคัญกับการแนะนำ (Guiding) มากกว่าการออกคำสั่ง (Giving Orders)
นายพิธา กล่าวต่อไปว่า หากถอดหมวกนักการเมืองออก วันเด็กทุกปีตนจะพาลูกและหลานมางานที่มิวเซียมสยามอยู่แล้ว เช่นกิจกรรมวันนี้ มิวเซียมสยามได้จัดกิจกรรม Play เยี่ยม เพื่อให้เด็กๆ สามารถปฏิบัติจริง เรียนรู้จริง เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการเล่นอย่างมีความรับผิดชอบ อีกทั้งมองว่า การพัฒนาศักยภาพของเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่ วิธีคิดวิธีเรียนรู้ก็แตกต่างกัน ต้องคิดว่าไม่ใช่โรงงานที่ผลิตทุกอย่างออกมาเหมือนกันหมด คนแต่ละคนก็ถนัดต่างกัน ดังนั้น ภาครัฐ ภาคการเมือง จึงต้องสนับสนุนการเรียนรู้ที่โอบรับความหลากหลายมากกว่าการผลิตซ้ำ
ส่วนคำถามว่าหากมีเด็กอยากโตเป็นนักการเมืองจะมีคำแนะนำอย่างไร นายพิธา ตอบว่า อันดับหนึ่งต้องเข้าใจตนเองว่าทำไมอยากเป็นนักการเมือง จะเป็นนักการเมืองไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง แต่ต้องมีจิตสาธารณะ หรือ public minded ที่สนใจสิ่งรอบข้าง และขอเป็นกำลังใจ อยากให้มีคนรุ่นใหม่ คนที่มีกำลัง เข้าสู่การเมืองเยอะๆ ก่อนทิ้งท้ายว่า “ทุกวันเป็นวันเด็ก คำอวยพรคงไม่มี แต่คงเป็นคำมั่นสัญญาว่าอยากให้ทุกวันเป็นวันเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ควรจะเกิดขึ้นในทุกวัน นั่นคือควรมีสวัสดิการ ควรมีพื้นที่แบบนี้ให้เด็ก ให้ทุกวันเป็นวันของเด็กได้จริงๆ”