รมว.พม. ปาฐกถา เวที พสบ.บก.ทท. ชี้ สถาบันครอบครัว ฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทย ยกตัวอย่าง หีบเหล็กถ่วงน้ำ แนะ วิธีแก้ปัญหาสังคมก้มหน้า เห็นใจ ลุงขายลอตเตอรี่วีลแชร์หงายท้องหัวฟาดพื้น ที่มาบตาพุด ระบุ สังคมต้องให้โอกาสกลุ่มเปราะบาง
วันที่ 11 ม.ค. 2567 ที่สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ปาฐกถาหัวข้อ “เยาวชน อนาคตของประเทศไทย และความมั่นคงของมนุษย์” แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาความสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองบัญชาการกองทัพไทย(พสบ.บก.ทท.) รุ่นที่ 15 โดย กล่าวตอนหนึ่ง ว่า งานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นงานที่ละเอียดอ่อน 100 คนก็ 100 วิธีแก้ ความมั่นคงของมนุษย์นั้นไม่เพียงแค่เรื่องความปลอดภัย แต่เป็นเรื่องของอนาคตและโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ซึ่งในวันนี้สังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ และสาเหตุหนึ่งคืออัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลงมากไม่ถึง 5 แสนคน ตรงกันข้ามกับผู้สูงอายุ หรือผู้มีประสบการณ์ ที่มีมากขึ้น ดังนั้นเราจะทำอย่างไรกับเด็กที่เกิดน้อยลงนี้ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ และหาวิธีให้เด็กเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น พัฒนาเยาวชนและเด็ก ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ คงไม่มีประเทศใดปฏิเสธว่าอนาคตของเยาวชนและแนวทางการพัฒนาเขาเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มียุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างทรัพยากรมนุษย์โดยมีเป้าหมายพัฒนาในทุกมิติ เพื่อให้เป็นพลเมืองของศตวรรษที่ 21 เป็นพลเมืองของโลก ไม่เพียงเป็นประชากรของไทยเท่านั้น
นายวราวุธ กล่าวว่า ตนเป็นคนที่ชอบลงมือทำมากกว่า ซึ่งมนุษย์เราทุกวันนี้จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางเด็กและเยาวชนที่จะต้องเติบโตขึ้นมา และพบเจอปัญหาหลากหลาย แต่ก็ต้องอยู่ให้ได้ท่ามกลางสภาวะโลกที่เปลี่ยนไป ภารกิจของกระทรวง พม. คือ การปรับตัวของมนุษย์ ดูแลกลุ่มเปราะบางเด็กและเยาวชน พัฒนาศักยภาพคนให้มีความมั่นคงและเติบโตขึ้นมาในสังคม และต้องพัฒนาศักยภาพของคนให้เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือต้องพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว
...
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สถาบันครอบครัววันนี้เป็นฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทย “อย่างที่ทุกคนได้เห็นข่าวแล้ว ที่ลูกชายเอาพ่อและน้องสาวเข้าไปในกรงเหล็กแล้วจะไปถ่วงน้ำ ถามว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ถ้าแก้คงแก้ไม่ได้แต่เราต้องป้องกัน ป้องกันด้วยการมีสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น เราจะทำอย่างไรที่ไม่ให้เวลาพ่อแม่ลูกนั่งกินข้าวด้วยกันด้วยกันแล้วทุกคนต่างถือมือถือ เรียกได้ว่ากินข้าวด้วยกันแต่ไม่ได้กินด้วยกัน ต่างคนต่างมีโลกของตัวเองแล้วก้มหน้า ตัวผมเองเวลาทานข้าวกับครอบครัวที่บ้าน ผมจะขอเก็บมือถือของสมาชิกทุกคนก่อน การสร้างครอบครัวไทยให้อบอุ่น พ่อแม่ลูกต้องพูดคุยกันมากขึ้น พูดคุยสอบถามทำงานเหนื่อยไหม สร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะปกป้อง สังคมไทยเอาไว้”
นายวราวุธ กล่าวว่า เราต้องดึงศักยภาพของคนพิการออกมา เพราะคนพิการไม่ใช่คนด้อยโอกาส เพียงแต่สังคมในวันนี้ยังไม่ได้หยิบยื่นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้กับพวกเขา เช่นกรณีที่เมื่อเช้านี้มีการนำเสนอข่าวชายสูงวัยขายลอตเตอรี่นั่งวีลแชร์เข็นลงฟุตปาท หงายหัวฟาดกลางถนน ที่มาบตาพุด จ.ระยอง น่าเห็นใจมาก ซึ่งนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่าไม่ใช่ความผิดของคนนั้น แต่เป็นสิ่งที่สังคมให้โอกาส แก่เขาในการทำงาน ดังนั้นหากเราสามารถดึงศักยภาพ เพิ่มสิ่งที่จำเป็นให้กับกลุ่มที่เปราะบาง เหล่านี้เราก็จะได้บุคคลที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น