นายกฯ ยืนยัน ไม่ได้กีดกัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับพรรคก้าวไกล แต่มาช้า ด้าน รองเลขาธิการนายกฯ ชี้แจงรัฐบาลรอแล้วจนวินาทีสุดท้าย แต่ก็ยังมาไม่ถึง ยัน ไม่เลือกข้างปฏิบัติ ไม่มีเอื้อนายทุน ชี้ “ก้าวไกล” สามารถเสนอปรับแก้ชั้น กมธ.ได้
วันที่ 10 ม.ค. 2567 เมื่อเวลา14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคก้าวไกล ต้องการให้นายกฯลงนามร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ รวมถึงฉบับที่พรรคก้าวไกล เสนอ แต่นายกฯยังไม่ได้ลงนาม เพื่อเสนอเข้าสู่สภาพิจารณา ว่า ร่างฯยังไม่มา มาช้า ส่วนที่บอกว่าส่งมาวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนยังไม่ทราบ ยังไม่เห็น ตนลงนามเท่าที่เห็น ยืนยันว่าไม่ได้มีการกีดกันอะไรทั้งสิ้น
ด้านนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ชี้แจงถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล มีข้อสงสัยต่อร่าง “พระราชบัญญัติอากาศเป็นพิษ” ของพรรคก้าวไกล ที่ไม่สามารถนำมาพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับ “ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด” ที่เสนอโดยภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันกว่า 22,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย, คณะรัฐมนตรี, สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคภูมิใจไทยว่า ตามข้อเท็จจริง และขอความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเนื่องจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งส่งร่างกฎหมายอากาศเป็นพิษของพรรคก้าวไกล ถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 เวลา 14.52 น. และยังเป็นร่างกฎหมายที่ยังไม่ได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่น ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับนั้น จะต้องผ่านการรับฟังความเห็นก่อน เพื่อพิจารณาว่า เป็นร่างกฎหมายนั้น เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ แม้คณะทำงานของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี จะพยายามเร่งรัดขั้นตอนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล และชะลอร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรี, สส.พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ และภาคประชาชนที่ผ่านการรับฟังความเห็น และนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านพิจารณาการเป็นร่างกฎหมายการเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรอร่างกฎหมายดังกล่าวของพรรคก้าวไกลจนวินาทีสุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่มีร่างกฎหมายอากาศเป็นพิษของพรรคก้าวไกลที่ผ่านความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาถึง ดังนั้น การกล่าวหาว่า รัฐบาลเลือกปฏิบัติ หรือเลือกข้างนั้น ไม่เป็นความจริง
...
“การทำงานของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และความถูกต้อง ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ ไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่นิดเดียว และก็จะต้องคำนึงกรอบกติกา และระเบียบ รวมถึงข้อควรระมัดระวังในขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ แต่ละขั้นตอน” นายจักรพล ยืนยัน
นายจักรพล ยังขอให้พรรคก้าวไกล ไม่ต้องมีความกังวลใด ๆ เพราะแม้ร่างกฎหมาย จะไม่สามารถนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรได้ทัน แต่ สส.ก็ของพรรคฯ ก็ยังสามารถอภิปรายแสดงความเห็นในสภาได้ รวมถึงยังสามารถแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการได้ ซึ่งเจตนารมณ์ในร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ก็จะถูกพิจารณาในชั้นกรรมาธิการอยู่แล้ว ดังนั้น สาระสำคัญในร่างกฎหมาย ทั้งจากภาคประชาชน คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ก็จะถูกนำไปพิจารณาในกรรมาธิการทั้งหมด ซึ่งพรรคก้าวไกล ก็จะมีบุคคลไปร่วมเป็นกรรมาธิการ 6 คน, ภาคประชาชน 13 คน ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงสามารถเสนอประเด็นสารัตถะสำคัญต่างๆ ที่พรรคก้าวไกลต้องการได้อย่างครบถ้วน
นายจักรพล ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลกล่าวหาถึงการเอื้อประโยชน์นายทุนว่า พรรคก้าวไกล จะต้องไม่ลืมว่า ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรี ก็มีความคล้ายคลึงกับร่างกฎหมายที่พรรคการเมืองเสนอ ดังนั้น ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการนั้น ภาคประชาชนจะมีสัดส่วน 13 คน พรรคก้าวไกล 6 คน ก็จะมีสัดส่วนมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว 1 คน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนแต่อย่างใด
ส่วนเนื้อหาภายในร่างกฎหมายอากาศสะอาดของทุกพรรคการเมืองนั้น นายจักรพล มั่นใจว่า มีความครบถ้วนครอบคลุม ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ภายในแต่ละร่างกฎหมาย โดยเฉพาะของพรรคก้าวไกล ก็เป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้หลักการเดียวกันในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควันข้ามพรมแดน รวมไปถึงมาตรการด้านการเงินการคลัง และภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นสารัตถะที่คล้ายกันในทุกร่างกฎหมายอากาศสะอาด
“หากมองในข้อเท็จจริง ทุกร่างกฎหมายที่จะเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์ต่อประเทศชาติ จะต้องไม่มีความตกหล่น แต่ไม่ว่าร่างกฎหมายพรรคก้าวไกล จะได้เข้า หรือไม่ได้เข้าพิจารณา รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับทุกความเห็น และทุกข้อมูลของพรรคการเมืองในการพิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้น ความกังวลของพรรคก้าวไกลที่เนื้อหาจะไม่ถูกพิจารณาจึงไม่เป็นความจริงอย่างยิ่ง เพราะก็ยังจะเป็นส่วนที่รัฐบาลหยิบมาวิเคราะห์ และศึกษาร่วมกันอย่างที่สุด สาระสำคัญไม่ตกหล่นแน่นอน” นายจักรพล ยืนยัน