เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้อยู่แล้วสำหรับคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่รัฐบาลสอบถามเกี่ยวกับการออกกฎหมายกู้เงินเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินคนละ 10,000 บาท คือเป็นการตอบในหลักการของข้อกฎหมาย ไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้าน แค่ให้คำปรึกษาว่าถ้ารัฐบาลจะกู้เงินมาทำโครงการนี้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง และมีเงื่อนไขข้อห้ามอะไรในกฎหมาย

คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า กฤษฎีกาได้ส่งคำตอบเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้รัฐบาลแล้วส่วนรายละเอียดต้องไปเข้าในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กฤษฎีกาตอบเป็นข้อกฎหมาย อธิบายถึง มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เงื่อนไขในนั้นบอกว่า เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูว่าเข้าเงื่อนไขนั้นหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลสามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่ คุณปกรณ์ตอบว่า สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเรายืนตาม มาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ตอบอย่างนั้นเป๊ะ ถ้าทำตามกฤษฎีกา ปลอดภัยแน่นอน เมื่อถามว่าการที่ระบุว่าอยู่ในช่วงภาวะวิกฤติ แต่จะมีการตราเป็น พ.ร.บ. จะย้อนแย้งกันหรือไม่ เลขากฤษฎีกาตอบว่า ไม่เป็นอะไรเลย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐเพียงแต่บอกว่าให้กู้ได้โดยตราเป็นกฎหมาย ทีนี้กฎหมายก็จะมีทั้ง พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. เดิมที่ผ่านมาเป็น พ.ร.ก.ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่เป็น พ.ร.บ.ก็ทำได้ 3 วาระรวดก็เคยมีมาแล้ว ไม่ได้ยากอะไร

จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถชี้แจงให้สังคมเห็นภาพได้ชัดว่า สถานการณ์ประเทศไทยถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ และผลที่ได้จะคุ้มค่ากับเงินกู้ 5 แสนล้านบาทหรือไม่

...

คำว่าวิกฤติจำเป็นเร่งด่วน น่าจะต้องถึงขั้น กิจกรรมเศรษฐกิจสะดุดทรุดลงอย่างหนักและต่อเนื่อง เช่น ประชาชนรายได้ลดลง ผู้คนตกงาน ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆตกต่ำ หรือเกิดภาวะวิกฤติแบบ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติโควิด แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะพูดทำนองว่าเศรษฐกิจขยายต่ำ แม้จะเติบโต 2% กว่า แต่เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วถือว่าเราโตช้า จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น

ส่วนเรื่องความคุ้มค่า รัฐบาลไม่มีข้อมูลการศึกษาเชิงลึกมาแสดงต่อสาธารณะ ประชาชนไม่รู้เลยว่าถ้าร่วมแบกหนี้ 5 แสนล้านบาทแล้ว ปีนี้จะมีรายได้เพิ่มเท่าไหร่ ส่งผลถึงปีต่อๆไปให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นแค่ไหน เศรษฐกิจประเทศจะเติบโตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ หว่านเงินลงไปเศรษฐกิจคึกคักแน่ แต่จะยั่งยืนหรือไม่ และถ้าเอาเงินก้อนนี้ไปทำโครงการอื่น จะคุ้มค่ามากกว่าไหม

อีกจุดหนึ่งที่ผมอยากให้รัฐบาลระมัดระวังคือ ข้อสังเกตของกฤษฎีกาที่ให้คำนึงตาม มาตรา 9 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

ก็ต้องตามลุ้นกันดูว่ารัฐบาลจะกล้าลุยไฟต่อหรือไม่ แต่จากคำให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.เมื่อวันอังคาร คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ยังยืนยันจะเดินหน้าต่อ โดยนายกฯกล่าวว่า คำตอบของกฤษฎีกาที่ส่งมาคงต้องเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ตนเป็นประธานก่อน ซึ่งมีหลายฝ่ายร่วมอยู่ อยากจะฟังความเห็นของทุกฝ่าย ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง

ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจว่าเรื่องนี้เดินไปต่อได้ใช่หรือไม่ นายกฯตอบว่า ไปต่อได้แน่นอน ชัดเจนครับ และต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน แล้วจะตอบเนื้อหาทีหลัง เมื่อถามว่าจะทันเดือน พ.ค.หรือไม่ นายกฯเศรษฐากล่าวว่า ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่ และยืนยันถ้าจะออกกฎหมายก็จะออกเป็น พ.ร.บ.

งานนี้นอกจากต้องประเมินความคุ้มค่าของโครงการแล้ว ผมว่ารัฐบาลควรประเมินความคุ้มค่าของอายุขัยรัฐบาลด้วย.

 ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม