“ภราดร” อภิปราย งบปี 67 ย้ำ เร่งศึกษา “สบู่ดำ” โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ร 9 เพื่อ ทำเชื้อเพลิง Biojet Fuels เรียกร้องคืนงบ Anywhere Anytime - Learn to Earn - ทบทวนโครงการโรงเรียนคุณภาพ

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยระบุว่า ยังไม่เห็นการวางแผน ทิศทาง ของรัฐบาล ในการเตรียมการเรื่อง เชื้อเพลิงการบินชีวภาพ หรือ Biojet Fuels เพราะ เห็นกฎขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ International Civil Aviation Organization - ICAO ที่ได้ออกกฎในปี ค.ศ. 2016 เพราะธุรกิจการบินปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก จึงให้ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมให้ใช้ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพทางการบิน ทางสหภาพยุโรป(อียู) กำหนดภายในปี 2025 ให้มีส่วนผสมของน้ำมันชีวภาพทางการบิน ผสม 2% ในสายการบินที่ออกจากสนามบินใน อียู นอกจากนั้นในปี 2040 จะเพิ่มเป็น 32% จะเพิ่มมากกว่านั้น ในปี 2050 เป็น 63% มีการคาดการณ์ในปี 2030 ใน 6 ปีหลังจากนี้ ตัวเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั่วโลก เพิ่มจาก 538 ล้านลิตร เป็น 18,200 ล้านลิตร หรือ 3 เท่า อันนี้มองว่าเป็นโอกาส ของคนไทย ที่จะได้นำเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่

“ลองหลับตาดูเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ เมื่อปี 2548 มีการคิดค้น ทำวิจัย โดยการริเริ่มจากโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ดำเนินการน้ำมันไบโอดีเซล โดยวัสดุเหลือใช้ นำน้ำมัน จากผลผลิตทางการเกษตร ตอนนั้นมี 2 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน กับ สบู่ดำ โดยให้มูลนิธิชัยพัฒนา ทำการวิจัย ไม่น่าเชื่อผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่เรื่องยังเป็นสมัยใหม่ ทันต่อเหตุการณ์ นึกภาพดูว่า 20 ปี ที่ผ่านมา มีการคิดวิจัยอย่างต่อเนื่องในเรื่องพลังงานทดแทน ป่านนี้ประเทศไทยจะเป็นอันดับ 1 ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงการบินชีวภาพ แต่ก็ยังไม่สาย ที่รัฐบาลชุดนี้จะเริ่มต้น เพราะนี่คือโอกาส ความต้องการเชื้อเพลิงชนิดนี้จะมีเพิ่มสูงมาก เรามีต้นแบบอยู่แล้ว พัฒนาสิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มเอาไว้ มาต่อยอด แต่ผมไม่เห็นในงบประมาณ 2567 ทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแล ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องเริ่มในการปลูกสบู่ดำ จึงต้องการให้ริเริ่มในปีงบประมาณหน้า จะเห็นการรณรงค์อย่างเต็มรูปแบบ นำสบู่ดำ มาทำเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพทางการบิน” นายภราดร กล่าว

นายภราดร กล่าวถึง นโยบายการศึกษา ที่ท้าทายวงการศึกษา นโยบาย Anywhere Anytime ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นักเรียนในชนบทและในเมืองหลวง เพราะพูดกันมากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รัฐบาลนี้ก็พยายามลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการออกเป็นนโยบาย เรียนที่ไหน เวลาไหนก็ได้ โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามา เป็นเครื่องมือสำคัญ พยายามสร้างแพลตฟอร์ม ทำคอนเทนต์ดีๆ ให้ นักเรียน เข้าถึงการศึกษา สื่อการศึกษาที่ไม่แตกต่างกัน

“แต่มีการตั้งงบประมาณเพียง 1,750 ล้านบาท เมื่อผมเห็นงบประมาณนี้ ผมตำหนิรัฐบาลทำไมตั้งเอาไว้ไม่เพียงพอ การจัดซื้อ การมอบแท็บเล็ต ให้กับนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ พยายามทำงบประมาณขาขึ้นไปถึง 7,000 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณกลับจัดสรรมาเพียง 20 % จากที่ขอไปซึ่งไม่เพียงพอ แต่ช่วงปี 2567 ใช้งบประมาณสั้นเพียง 6-7 เดือน กระทรวงศึกษา นำงบประมาณนี้ไปจัดทำคอนเทนต์ และเพลตฟอร์ม ในปีนี้ก่อน”

นายภราดร กล่าวว่า ฟังสมาชิกหลายคนอภิปรายว่าโครงการแท็บเล็ต นี้จะย้อนกลับไปว่าจะมีปัญหาเหมือนเมื่อก่อน มีโอกาสพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ คุยกับพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้รู้แนวทางในการจัดหาแท็บเล็ต ไม่ใช่ซื้อเหมือนเมื่อก่อน ใช้วิธีเช่า ไม่ต้องดูการบำรุงรักษา การเสียหายของอุปกรณ์ อันนี้ขอสนับสนุน

นายภราดร อภิปรายถึงนโยบาย Learn to Earn ผลักดันเด็กที่อยู่ในระบบให้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้ได้เร็วที่สุด หรือพร้อมๆ กับเด็กในช่วงอยู่ระหว่างการศึกษา หารายได้เลี้ยงชีพ ควบคู่กันไปได้พร้อมๆ กัน จึงมีนโยบายออกใบรับรอง สำหรับคนไปอบรมระยะสั้น ๆ 30-40 ชั่วโมง เพื่อไปทำกิจการ การค้าของตัวเอง ประกอบอาชีพของตัวเอง เช่นสอนทำขนม ซ่อมรถ ซ่อมมอเตอร์ไซค์ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปดูในเล่มงบประมาณ ขาวคาดแดง จัดงบประมาณเพียง 493.52 ล้านบาท จากที่ขอไป 1,157 ล้านบาท ลดไป 5-60 % แล้วแบบนี้ทางกรมอาชีวะ จะไปทำได้ครบวงจร เต็มรูปแบบได้ยังไง ฝากไปถึงสำนักงบประมาณ ในปีหน้าช่วยพิจารณางบประมาณให้มากกว่านี้ ให้เพียงพอกับการไปดำเนินมาตรการสำคัญ

นายภราดร กล่าวว่า อีกเรื่องคือ โรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอ เป็นหลักคิดที่ดี ถูกต้อง ตั้งใจให้โรงเรียนคุณภาพ เป็นแม่เหล็ก ให้โรงเรียนบริวาร ได้ย้ายเข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ เรื่องนี้ทำมาหลายรัฐบาล ทำมาอย่างน้อย ๆ 4-5 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้น โรงเรียนคุณภาพเป็นศูนย์กลาง แล้วให้โรงเรียนเล็ก ๆ ย้ายเด็กเข้ามาเรียน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีการย้ายโรงเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้คิด เอาไว้ ปัญหาคือการไปทำโรงเรียนคุณภาพแบบนี้ยิ่งไปกดทับ สร้างความเหลื่อมล้ำ ให้โรงเรียนเล็ก ๆ มากขึ้นไปอีกหรือไม่ ถึงเวลาหรือยังต้องตั้งโจทย์ใหม่ ที่ว่าเราจะย้ายเด็กนักเรียนให้เข้ามาอยู่ในโรงเรียนคุณภาพ วันนี้หลายคนอภิปรายในสภา เราไม่เอาความจริงมาพูดกัน เรากลัวกับคำว่ายุบโรงเรียน ควบรวมโรงเรียน ไม่มีใครกล้าทำในเรื่องนี้ เพราะมีแรงต่อต้าน จากชุมชน สถานศึกษา ผู้ปกครอง ที่เป็นศิษย์เก่า เราเสียคะแนนทางการเมือง กลัวเสียความนิยมทางการเมือง แต่เราไม่เสียดายโอกาสของเด็กนักเรียน ในชนบทที่เขาต้องถูกกดทับด้วยความเหลื่อมล้ำไปเรื่อย ๆ แบบนี้หรือ ต้องหาทางเอาเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเล็ก ๆ มาอยู่ในโรงเรียนคุณภาพได้ นั่นคือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายกระทรวงศึกษาธิการ แต่ เชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ จะกล้าตัดสินใจ ดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป

...


************************
.