“จุลพันธ์” แจงติดตลกกลางที่ประชุมสภา บอก “นึกว่า กปปส.” หลัง สส.ก้าวไกล อภิปรายถึงภาระหนี้จากจำนำข้าว ชี้ รัฐบาลยินดีสูญเสียรายได้ของรัฐ เพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน

เมื่อเวลา 17.36 น. วันที่ 3 มกราคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. 2567 หลังจากที่ นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายจบ ซึ่งนายชัยวัฒน์ กล่าวสรุปไว้ว่า ปัญหาหนี้สินของคนไทยทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบนั้นเป็นวิกฤติจริง หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และจะเป็นไปได้ยากตามที่นายกรัฐมนตรีคาดหวัง และไม่สามารถเห็นชอบร่างงบประมาณ 2567 ได้ หวังว่ารัฐบาลจะนำสิ่งที่อภิปรายไปปรับปรุงและจัดหมวดหมู่ให้ตรงปก แยกงบใช้หนี้ในอดีต กับงบลงทุนเพื่ออนาคตออกจากกัน ไม่ใช่จัดงบสอดไส้เอาอดีตมาเบียดบังอนาคต

นายจุลพันธ์ แจงว่า ในประเด็นการประเมินรายได้ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิต ที่กล่าวว่ามีการสูญเสียรายได้ถึง 60,000 ล้านบาทนั้น ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าสู่ตำแหน่งการบริหารราชการ เริ่มมาตรการเรื่องภาษีน้ำมันดีเซล 2 รอบ รอบแรก 20 กันยายน - 31 ธันวาคม 2566 สูญเสียรายได้ราว 15,000 ล้านบาท ส่วนรอบที่ 2 คือถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 สูญเสียรายได้อีกประมาณ 2,700 ล้านบาท รวมการสูญเสียรายได้จากมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตด้านพลังงานทั้งสิ้น 17,700 ล้านบาท และเป็นการสูญเสียรายได้อยู่ในกรอบที่เราสามารถบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้การจัดเก็บรายได้พลาดเป้า ทำได้โดยไม่มีปัญหาใด 

“ที่สำคัญเป็นการสูญเสียรายได้ของรัฐที่รัฐบาลยินดีจะเสีย เพราะว่าเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ใช้น้ำมันในการประกอบอาชีพ รวมถึงดำรงชีวิตในประจำวันทุกคน เพราะฉะนั้น รัฐบาลยินดี ไม่ได้เป็นประเด็นที่จะเป็นปัญหาต่อการจัดเก็บแต่อย่างใด”

...

ประเด็นที่ 2 ในข้อห่วงใยการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ และต้นทุนการกู้เงิน ที่ประเมินว่าอาจจะสูงถึงร้อยละ 10 ของรายได้ในปี 2568 ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาจากสัดส่วนของภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ เนื่องจากการกู้เงินเพิ่มขึ้นหรือปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดล้วนส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น และส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณ แต่จากการคาดการณ์ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จะมีสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 8 โดยในระยะปานกลางภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ จะยังอยู่ในกรอบมาตรฐานสากลที่กำลังไว้ที่ 10% ไม่ได้อยู่ในจุดที่น่าห่วง เทียบเคียงกับระดับความน่าเชื่อถือ A- แสดงให้เห็นว่าประเทศยังคงมีความน่าเชื่อถือ และอยู่ในจุดที่ความสามารถในการชำระหนี้ในระดับสูง เป็นสถานการณ์ปกติ

ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงมีความจำเป็นในเรื่องการจัดสรรงบประมาณแบบขาดดุลต่อไปในระยะปานกลาง ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ยังไม่ได้ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างสมบูรณ์ กลไกที่จะต้องใช้รายจ่ายของภารรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการเจริญเติบโตของจีดีพี ยังเป็นกลไกที่มีความจำเป็น โดยมีการวางกรอบว่าช่วงประมาณปี 2568-2571 ยังเป็นการวางแผนการคลังระยะปานกลางในแบบขาดดุล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ เพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ให้สูงขึ้นด้วย พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงและลดภาระดอกเบี้ยไปในขณะเดียวกัน

ประเด็นที่ 3 การใช้กลไกตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ คือ เรื่องการใช้สถาบันการเงินของรัฐ เป็นผู้ดำเนินการในนโยบายใดๆ โดยที่รัฐบาลมีภาระหน้าที่ในการชำระคืนนั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า สิ่งที่เรียกว่า SFIs (Specialized Financial Institutions) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภารกิจหน้าที่โดย พ.ร.บ.จัดตั้ง มีวัตถุประสงค์ที่จำเพาะ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชน จะไม่ปฏิบัติภารกิจเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ เป็นกลไกลที่สำคัญของรัฐบาลที่จะดำเนินภารกิจแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร 

ถ้าท่านเป็น สส.ต่างจังหวัดเหมือนตน จะรู้เป็นอย่างดีว่า ธ.ก.ส. กับพี่น้องเกษตรกรมีความใกล้ชิด และก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องของความรู้ความเข้าใจ เรื่องเทคนิคในการผลิต การไฟแนนซ์ตัวเงินต่างๆ เพราะฉะนั้น กลไกนี้เป็นกลไกที่มีความจำเป็น และเราไม่ได้สร้างภาระจนเกินไปกับสถาบันการเงินเหล่านั้น ต้องขอชี้แจงแทนธนาคารแห่งรัฐ ธนาคารในกำกับรัฐหลายแห่ง ทั้ง ธ.ก.ส. ออมสิน ว่า ไม่มีธนาคารภายใต้กำกับของรัฐที่จะไปขูดรีด ไปคิดดอกเบี้ยแพงๆ กับประชาชน เราอยู่ในกรอบที่เรียกว่าทำภารกิจให้สำเร็จ โดยที่ไม่เป็นภาระต่อตัวธนาคารภายใต้กำกับเหล่านั้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในจุดที่มีความเหมาะสม และถูกกว่าธนาคารพาณิชย์ เรายินดีที่จะทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ตามภารกิจหน้าที่ที่ SFIs ได้รับมอบมา

“ถ้าได้อภิปรายในเรื่องภาระเก่าก่อนว่าเป็นอดีตเบียดบังอนาคต ผมก็ขออนุญาตเรียนด้วยความเคารพครับ มันก็เป็นภาระที่เกิดก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ท่านอภิปรายถึงจำนำข้าวนี่ผมยังตกใจว่าท่านอยู่พรรคก้าวไกล หรือว่าอยู่ กปปส. กันแน่ (นายจุลพันธ์ หัวเราะขึ้นหลังพูด) แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เรียนว่า ตัวนโยบายเหล่านั้นต้องย้อนไปในอดีต ณ วันนั้น เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรมากเพียงไรที่เขาได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้พี่น้องเกษตรกรในวันนั้นเกิดความเข้มแข็ง สามารถยืนได้ในลำแข้งของตัวเอง ลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง เพราะฉะนั้นเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์”  

วันนี้แม้จะมีภาระคงค้างมาจากรัฐบาลชุดใดๆ ก็ตาม เราก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการในเรื่องแก้ไข ปลดภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาที่ตกลงกัน ระหว่างธนาคารรัฐต่างๆ กับสำนักงบประมาณ ไม่ได้เป็นภาระที่เกินเลยต่อ SFIs ไม่ได้เป็นภาระที่เกินเลยต่อรัฐบาล ยังยืนยันว่ามาตรการผ่านธนาคารของรัฐ ยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้ต่อในอนาคต เพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนใมนกลุ่มต่างๆ 

จากนั้น นายชัยวัฒน์ ขอใช้สิทธิ์พาดพิง กล่าวว่า ตนเองเข้าใจความลำบากของเกษตรกร แต่ปัจจุบันหนี้ชนเพดานแล้ว ไม่สามารถนำเกษตรกรที่เดือดร้อนเข้าโครงการได้กว่า 200,000 คน เพราะชนเพดานวินัยการเงินการคลังไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับเป็น สส.ต่างจังหวัดหรือไม่ ส่วนเรื่องโครงการจำนำข้าว หนี้ที่ต้องใช้จากโครงการนี้ ปัจจุบันยังใช้ไม่หมด และตนเองก็ไม่เกี่ยวกับ กปปส. ด้วย ก่อนจบการอภิปรายในเวลา 17.46 น.