“เศรษฐา” เผย ไทยให้ความสำคัญสนธิสัญญา FTA ยันรัฐบาลนี้มีแผนงานชัดเจน เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าประเทศ ย้ำจุดยืนไทยบนเวทีโลกต้องเป็นกลาง เตรียมคุยกับ “ฮุน มาเนต” เรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา 7 ก.พ. นี้
วันที่ 3 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 17.09 น. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นอภิปราย ขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่แนะนำนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยมีหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ และกลายเรื่องอยากขยายความ โดยเฉพาะเรื่องสนธิสัญญา FTA (เขตการค้าเสรี) ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ EU โดยรัฐบาลจะทำมากขึ้น มีการตั้งงบประมาณเผื่อไว้เรียบร้อยแล้ว และโรงงานใหญ่ๆ จะมาตั้งฐานการผลิต เรื่อง FTA ถือว่ามีความสำคัญ โดยรัฐบาลตระหนักดีที่ไทยล้าหลังประเทศเวียดนาม เพราะถือว่ามีความเสี่ยง หากไม่รีบเจรจาอาจจะย้ายฐานการผลิตได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องค่าแรง ถ้าจะย้ายเป็นเพราะเรามีความคืบหน้าน้อยมากใน 8-9 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่ารัฐบาลมีแผนงานที่ชัดเจนและจะทำให้เร็วที่สุด
ส่วนเรื่องจุดยืนในเวทีโลก เรามีจุดยืนที่มีความเป็นกลาง เช่น อิสราเอล-ฮามาส ที่อาศัยทางการทูตที่ดีที่มีอิทธิพลทางการทูตทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่การเดินทางไปต่างประเทศของตนเอง ก็ไปเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นระดับ High profit มีการจ้างงานและยกระดับรายได้ของประชาชน ซึ่งจะทำต่อไป หลังทำมาแล้วกว่า 100 วัน โดยหลายเรื่องประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความเปราะบาง ที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะยังต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยไม่ได้มีแค่นโยบายด้านภาษี แต่ต้องมีเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เพื่อทำให้นักลงทุนต่างประเทศมาอยู่ประเทศไทย ทั้งเรื่องโรงเรียนนานาชาติ และระบบเฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อนำบริษัทข้ามชาติมาลงทุนในไทย
...
ขณะที่เรื่องทุนมนุษย์ โดยระหว่างที่ตนเองไปเจรจากับหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ต้องการเม็ดเงิน แต่ต้องการให้เข้ามาสร้างทักษะพิเศษที่ประชาชนของประเทศเราที่อาจจะยังขาดอยู่บ้าง เพื่อให้คนของเราพัฒนา เพื่อทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ส่วนเรื่องของพม่า ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าไปพูดคุย เพื่อจะทำการตั้งคณะกรรมการ Humanitarian assistance เพื่อดูแลผู้เปราะบาง ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยประเทศไทยเป็นผู้นำในการเจรจาเรื่องนี้ ที่จะต้องเจรจาควบคู่ไปกับทั้งเรื่องการค้าชายแดน ฝุ่น PM 2.5 และยาเสพติดด้วย
ขณะที่เรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา ยืนยันว่ามีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็น 1 ใน agenda ที่จะพูดคุยกัน ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่จะมาเยือนไทยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้