“วราวุธ” เผย เริ่มต้นปี 2567 ประเดิมแก้ปัญหาโครงสร้างประชากร ขอทุกหน่วยงานร่วมมือจริงจัง หวั่นประชากรลดฮวบในอนาคต ส่วนเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุต้องดูฐานะการเงินรัฐบาลด้วย ชี้ การเมืองดุเดือดทุกปี จับตาประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 1 มกราคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะเร่งดำเนินการในปี 2567 ว่า จะจัดสัมมนาเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยในขณะนี้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณ 400,000 กว่าคน แต่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 600,000 คน ถือว่าติดลบ ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ประชากรของไทยลดลงเหลือ 33 ล้านคน ภายในเวลา 50-60 ปีจากนี้ไป แปลว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับภาระมากมายในสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

ดังนั้นปัญหาทางสังคม และโครงสร้างประชากรของไทยในขณะนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่การส่งเสริมให้มีจำนวนเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้น เพราะเรากำลังมีปัญหาที่ประชาชนกลุ่ม Gen Y หรือกลุ่ม Gen Z ไม่อยากจะมีครอบครัว และไม่อยากมีผู้สืบสกุล ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมผนึกกำลังกันแก้ไขปัญหา ร่วมสร้างสังคมให้มีความอบอุ่น มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ เพื่อทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกถึงความปลอดภัย และความอุ่นใจในการสร้างครอบครัวและมีลูกหลาน

ขณะเดียวกัน นายวราวุธ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีองค์กรผู้สูงอายุบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบแล้ว และอีกไม่กี่ปีจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสุดยอด ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงแสดงให้เห็นว่าคนวัยทำงานจะมีจำนวนน้อยลง สวนทางปริมาณของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ของรัฐบาล หรือของประเทศมาจากภาษี ถ้าคนทำงานมีน้อยลง รายได้ของประเทศก็จะลดลง แต่ผู้ที่ต้องการใช้สวัสดิการดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้น

...

ขณะเดียวกัน นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ตนเองก็อยากให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพ 3,000 หรือ 5,000 บาท แต่อยากให้ทุกคนคำนึงถึงรายรับของรัฐบาลด้วย มิฉะนั้นประเทศเราจะยังอยู่ในวังวนการกู้ยืมเงินแล้วเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งนี้เราเห็นใจผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องมีเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่ง พม.จะทำให้ดีที่สุดในการกระจายให้ทั่วถึงประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปทุกคน แต่ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงฐานะทางการเงินของรัฐบาลด้วย ซึ่งไม่เพียงกรณีของเบี้ยผู้สูงอายุ ยังรวมถึงเรื่องเบี้ยผู้พิการ และเงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิดด้วย

นอกจากนี้ นายวราวุธ ยังให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2567 ว่า คงมีเรื่องราวท้าทายเหมือนกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการอภิปรายเกิดขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นช่วงไหน เพราะในแต่ละสมัยประชุมฝ่ายค้านมีสิทธิ์ที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยปีหน้าจะมีงบประมาณที่ต้องพิจารณาถึง 2 ปีงบประมาณ คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 และ 2568 ก็จะเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องบริหารโครงสร้างงบประมาณ รวมถึงปัญหาต่างๆ ในแต่ละกระทรวง แต่ยืนยันว่าการทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลยังเป็นไปด้วยความราบรื่น

เมื่อถามว่าในปี 2567 สถานการณ์การเมืองจะดุเดือดขึ้นหรือไม่ เพราะมีกฎหมายสำคัญหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา เช่น การทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ นายวราวุธ ระบุว่า การเมืองดุเดือดทุกปี ไม่มีวันไหน หรือปีไหนที่ไม่ดุเดือด ซึ่งในส่วนของประเด็นประชามติจะเป็นประเด็นที่ท้าทายสังคมว่าแต่ละกลุ่มมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการถามความเห็นพี่น้องประชาชน.