ปฏิทินหน้าสุดท้าย นับถอยหลังปีเก่าเหลืออีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะเข้าสู่ศักราชใหม่

เป็นธรรมเนียมนิยมที่จะได้สรุปปรากฏการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสรรหาบุคคลผู้มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ แบบที่สื่อระดับโลกอย่างนิตยสารไทม์ได้ประกาศคัดเลือกบุคคลแห่งปีให้เป็นที่ฮือฮา ในฐานะผู้ทำให้เกิดแรงจูงใจในเชิงสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในมุมบวกและมุมลบ เป็นที่ประจักษ์ต่อมวลมนุษยชาติ

โดยไม่ได้เจาะจงต้องเป็นชาติมหาอำนาจหรือประเทศโลกที่สามที่จะได้รับเลือกเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหรืออาชญากรสงคราม

ใครที่มีบทบาทเด่นระดับโลก ก็ขึ้นปกบุคคลแห่งปีนิตยสารไทม์ได้หมด

ในส่วนของ “ทีมการเมืองไทยรัฐ” ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตลอด โดยการคัดเลือก “บุคคลการเมืองแห่งปี” มาต่อเนื่อง

ไม่ได้หยุดพักตามจังหวะสะดุดห้วงเผด็จการหรือประชาธิปไตย

เพราะตามนิยาม ผู้ได้รับเลือกเป็นบุคคลการเมืองแห่งปี โดยการลงมติของ “ทีมการเมืองไทยรัฐ” ไม่ได้หมายความว่า เขาหรือเธอผู้นั้นต้องเป็นนักการเมืองที่วิเศษวิโส เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม เปี่ยมไปด้วยจริยธรรมคุณงามความดี

หรือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ฝีมือบริหารยอดเยี่ยม เชี่ยวชาญการเมืองประดุจ “เซียนเหยียบเมฆ” ในสายตาผู้คนในสังคมเท่านั้น

แต่ “บุคคลการเมืองแห่งปี” ในนิยามของเรา หมายถึง บุคคลและไม่จำกัดที่จะรวมถึงคณะบุคคลที่มีบทบาท มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเกมอำนาจ สร้างสีสันฉูดฉาด มีพลังสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นให้เกิดกับการเมืองในประเทศไทยอย่างเด่นชัด

จะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรืออยู่นอกสภา ก็ได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องสารภาพกันตรงๆเลยว่า เป็นการตัดสินใจยากมากในการคัดสรรบุคคลการเมืองแห่งปี 2566 ของทีมการเมืองไทยรัฐ

...

เราต้องใช้เวลาถกเถียงกันเป็นเวลานาน กว่าจะเคาะโต๊ะได้

นั่นก็เพราะมีตัวเลือกหลายคนที่อยู่ในข่าย ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ปีของการเลือกตั้งใหญ่ หัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจ

แต่ละคนโดดเด่นตามโอกาสในเกมชิงธงผู้นำรัฐบาล

ไล่ตั้งแต่แชมป์ตัวยืนอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจกระโดดลงสนามเลือกตั้งเต็มตัว

ด้วยสถานะของเบอร์หนึ่งในบัญชีแคนดิเดตนายกฯของค่ายรวมไทยสร้างชาติ เพื่อโอกาสลุ้นแฮตทริก เบิ้ลเก้าอี้นายกฯรอบสาม

ตามจังหวะปะทะกับแรงต้านอำนาจทหารเฒ่า 3 ป. และก็ฝ่ากระแสคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ค่ายรวมไทยสร้างชาติแพ้เลือกตั้งแบบกระจุย

ทำให้น้องเล็กทีม 3 ป. ตัดสินใจแขวนนวม ประกาศอำลาสนามการเมืองอย่างเป็นทางการ “บิ๊กตู่” โดดเด่นแค่ในสถานการณ์ห้วงปลายอำนาจเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับ “หนุ่มทิม” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล

ที่กระแสพีกสวนทางขึ้นมาในฐานะผู้นำหนุ่ม ความหวังคนรุ่นใหม่

โชว์ฟอร์มนำทัพชนะเลือกตั้งพลิกล็อกถล่มทลาย กลายเป็น “ตัวเต็ง” นายกรัฐมนตรี ณ นาที ที่รู้ผลการนับคะแนนทั่วประเทศอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลกวาดเก้าอี้ สส.มากเป็นอันดับหนึ่ง

“พิธา” โดดเด่นสุดๆกับการนำแห่ “รัฐบาลแห่งความฝัน”  ถึงขั้นที่กองเชียร์พรรคก้าวไกล เหล่า “ด้อมส้ม” พากันเรียก “นายกฯพิธา” จนฮิตติดปาก

แต่นั่นก็แค่ 5-6 เดือนที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลนำทัพเลือกตั้งเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเพื่อไทย และพรรคเล็กฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงเกินครึ่งสภาฯ

แต่รวมแต้มแล้วเสียงไม่พอฝ่าด่านอรหันต์  “สว.ลากตั้ง”

“พิธา” ได้สิทธิโหวตในสภาแค่รอบเดียว หลังจากนั้นก็ต้องเจอวิบากกรรมปมถือหุ้นสื่อไอทีวี ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.

รออยู่ข้างสนาม ยังเป็นได้แค่ “นายกฯในฝันของด้อมส้ม”

ชื่อของ “พิธา” ลดความร้อนแรงไป ในจังหวะที่พรรคเพื่อไทยปฏิบัติการแหกขั้วฝ่ายประชาธิปไตยไปจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์ ขบวนหนุนอำนาจ 3 ป. ยอมโดนด่าตระบัดสัตย์ จัดตั้งรัฐบาลสูตรพิสดาร

และก็สามารถผลักดันชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 2 ของพรรคขึ้นแท่นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ได้เป็นผลสำเร็จ

ถึงแม้จะไม่สง่างาม ไม่ถูกใจฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ผิดกติกา

แน่นอน การขึ้นแท่นผู้นำประเทศไทย ในฐานะเบอร์หนึ่งฝ่ายบริหาร นายเศรษฐาน่าจะได้เป็นบุคคลการเมืองแห่งปี 2566 ตามสถานะนายกรัฐมนตรีที่โดดเด่นโดยอัตโนมัติ

แต่ทีมการเมืองของเรา ไม่ได้มองชั้นเดียว ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์เกมอำนาจการเมืองที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน โดยเฉพาะนิยาม ต้องเป็น “ผู้มีอิทธิพลในการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

ย้อนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก่อนที่นายเศรษฐาจะได้รับการลงมติจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเย็น

ช่วงเช้าวันเดียวกันมีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นาทีที่ล้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวแตะรันเวย์ท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมกับการปรากฏตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเหยียบแผ่นดินแม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี

ในฐานะนักโทษหลบหนีคดี เดินทางออกนอกประเทศ ไทยด้วยการอ้างไปดูกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐ ประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551

“ทักษิณ” กลับไทยจริง จากที่บอกจะกลับแล้วไม่กลับมา 18 ครั้ง

และเป็นจังหวะต่อเนื่องกับ “ดีลลับ” ตามภาพข่าวที่ “นายใหญ่” ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย บินไปปักหลักที่โรงแรมดังฝั่งเกาลูน ฮ่องกง ในห้วงขั้วการเมืองพลิกไปพลิกมา

สถานการณ์เพื่อไทยได้สิทธิเป็นแกนนำจัดรัฐบาลสายการบินทุกสายมุ่งสู่ฮ่องกง พรรคร่วมรัฐบาล ทีมอำนาจ 3 ป. แย่งกันตีตั๋ว ทั้งภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์

ไม่เว้นแม้แต่ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หัวขบวนใหญ่กองทัพก้าวไกล ก็ดอดไปร่วมวงเจรจาก่อนกดปุ่มไฟเขียวนายกฯ ตัวสูงๆ รัฐบาลข้ามขั้วสูตรพิสดาร

สะท้อนความเป็น “ศูนย์อำนาจ” ปฏิเสธไม่ได้ นายทักษิณคือผู้มีบทบาทสำคัญต่อการก่อกำเนิดรัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย หลังห่างหายไปกว่า 9 ปี ที่โดนขั้วอำนาจทหารเฒ่า 3 ป. โค่นกระดาน

“นายใหญ่” ชิงอำนาจรัฐกลับมาอยู่ในกำมือ

จากความพยายามอย่างไม่ลดละ ที่จะกลับบ้านอย่างเท่ๆ

ด้วยเหลี่ยมเก๋าโคตรเซียนการเมือง นักการตลาดตัวพ่อ ที่เกาะกระแส มีส่วนร่วมกับเกมอำนาจการเมืองตลอดเวลาแม้อยู่แดนไกล

อาศัยความเป็นอัศวินดิจิทัลยุคบุกเบิก เชี่ยวชาญการสื่อสาร ไม่เคยตกเทรนด์ใหม่ ตั้งแต่การโฟนอินพัฒนา การมาจนถึงการใช้แอปพลิเคชันตามเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม คลับเฮาส์ ฯลฯ

ชื่อของ “ทักษิณ” ไม่เคยหายไปจากกระดานการเมืองไทย

และก็เป็นผู้นำระดับสูงของไทยที่ลี้ภัยต่างประเทศแล้วได้เดินทางกลับบ้าน ไม่ได้ไปแล้วไปลับ อย่างที่โดนฝ่ายต่อต้านสาปส่ง

ที่สำคัญอดีตนายกฯทักษิณ ในฐานะผู้ต้องหาหลบหนีคดี ถูกนำตัวเข้าอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ทันข้ามคืน ก็ได้สิทธิผู้ป่วย นักโทษสูงอายุ นอนรักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

พร้อมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษ จากที่โดนตัดสินจำคุก 8 ปี จาก 2–3 คดี ลดเหลือจำคุกแค่ 1 ปี

“เพื่อจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชนสืบไป”

นัยความหมายพิเศษ ที่คนในวงอำนาจแปรสัญญาณได้ เอาเป็นว่า ตามเงื่อนไขสถานการณ์ไม่ได้ผิดจากความตั้งใจของ “ทักษิณ” ที่ประกาศตลอดว่า จะกลับบ้านอย่างเท่ๆไม่ต้องติดคุก เพราะไม่ได้ทำผิด เป็นคดีการเมือง โดนกลั่นแกล้ง

ตรงกันข้ามกับแรงต้านของขบวนการหมั่นไส้ ที่ทำได้แค่ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย นำม็อบกะปริดกะปรอย บุกกระตุกนักโทษวีไอพีกันเป็นพักๆ น้ำหนักไม่ได้กระเทือนถึงคนป่วยชั้น 14

สวนทางกับสัญญาณคลื่นความถี่สูงที่ส่งตรงถึงพรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรี สส.พรรคเพื่อไทย เป็นที่รับรู้กันคำตัดสินจากชั้น 14 ถือเป็นที่สุด มีผลผูกพันกับรัฐบาลเพื่อไทย

ด้วยฟอร์มอมตะในเกมอำนาจ ที่คนอื่นยากจะเลียนแบบได้ “ทีมการเมืองไทยรัฐ” จึงลงมติยกตำแหน่งบุคคลการเมืองแห่งปี 2566 ให้ “ทักษิณ ชินวัตร”

แบ็กอัปอำนาจ ตัวจริง เสียงจริง.

“ทีมการเมือง”

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่