หลังจากได้เห็นฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2566 ที่นักข่าวสายทำเนียบฯตั้งให้แล้ว ก็มาถึงคิวนักข่าวสายรัฐสภาตั้งฉายาให้สภาฯ วุฒิสภา สส. และ สว.กันบ้าง เป็นการสะท้อนความคิดเห็นต่อการทำหน้าที่ของ สส. และ สว. เพื่อให้นำจุดบกพร่องไปทบทวนปรับปรุงการทำงานให้สมกับที่เป็นตัวแทนของประชาชน

เริ่มจาก สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา “สภาลวงละคร” จากการชิงไหวชิงพริบแย่งอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย ครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หักเหลี่ยมเฉือนคมตั้งแต่เลือกนายกฯ จนถึงประธานสภาฯ มีการหักหลังฝ่ายเดียวกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจนถึงขั้นฉีกเอ็มโอยูเปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง

วุฒิสภา ได้รับฉายา “แตก ป. รอ Retire” ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาปี 2565 คือ “ตรา ป.” ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดก คสช.เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แบบไม่มีแตกแถว แต่ปีนี้ 2 ป.แยกทางกัน ในการลงมติเลือกนายกฯ สว.ฝ่าย ป. ประยุทธ์ลงมติสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับ สว.ฝ่าย ป. ประวิตรที่งดออกเสียง และ สว.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระในเดือน พ.ค.2567 จึงเป็นเหมือนรอเวลาเกษียณ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ได้รับฉายา “(วัน) นอ-มินี” ทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเคยแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ก่อนที่จะตกลงร่วมกันว่าใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทยจึงเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ ดังนั้น นายวันมูหะมัดนอร์เปรียบเหมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา“แจ๋วหลบ จบแล้ว” คำว่าแจ๋วเป็นบทบาทของผู้รับใช้ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานายพรเพชรถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นายพรเพชรก็พยายามหลบแรงปะทะไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในปีหน้า

...

นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเห็น ควรว่าควรงดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ขณะที่ “ดาวเด่น’66” ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่า ไม่มีผู้ใดเหมาะสมและโดดเด่นเพียงพอ

ส่วน “ดาวดับ’66” ยกให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง กระทั่งรู้ผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน สส.มากที่สุด ก็เดินสายขอบคุณประชาชนประหนึ่งว่าเป็นนายกฯแล้ว เกิดกระแสพิธาฟีเวอร์ แต่กลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาฯไม่ได้เหยียบ ทำเนียบฯไม่ได้เข้า เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่จากคดีหุ้นไอทีวี (ต้องตามลุ้นผลคดีในอีกไม่นานนี้ ซึ่งไต่สวนพยานใกล้ครบแล้ว แม้ผลโพลคะแนนนิยมยังเป็นที่ 1 แต่ถ้าไม่รอดคดี คุณพิธาจะกลายเป็นดาวดับไปตลอดกาล)

วาทะแห่งปี เป็นวาทะของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ขณะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ชี้แจงคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทยให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ว่า “เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับสองมีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับสองสามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมืองและรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิดเพราะว่ายิ่งเราจับมือกันยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”

เหตุการณ์แห่งปี คือ “เลือกนายกรัฐมนตรี” ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ต้องเลือกกันถึง 3 ครั้ง ที่ประชุมรัฐสภาถึงจะให้ความเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ

คู่กัดแห่งปี ปีนี้งดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเลือกนายกฯ อีกทั้งไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน มีเพียงการปะทะคารมในบางเหตุการณ์เท่านั้น

“คนดีศรีสภา” นักข่าวสายรัฐสภามีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่มี สส.หรือ สว.คนใดเหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

ผมอยากถามท่านผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้ง 750 คน รู้สึกกระดากใจบ้างไหมครับที่หาคนดีเป็นศรีแก่สภาไม่ได้เลยสักคน.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม