ปีเดิมพันอำนาจประเทศไทย ห้ำหั่นช่วงชิงความเป็นใหญ่ในทุกสนามการเมือง ประเดิมตั้งแต่สนามเลือกตั้งใหญ่ เดือน พ.ค.2566 ที่ทุกพรรคขับเคี่ยว ไม่มีใครยอมใคร

หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง เกมชิงอำนาจเดือดทะลักหนักกว่าเดิม เปิดศึกหักเหลี่ยมเฉือนคม แย่งอำนาจกันทุกตำแหน่ง ทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร พลิกไปมาหลายตลบ

พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้ง อันดับ 1 แต่ชวดตั้งรัฐบาล เพราะโดนพรรคเพื่อไทย เพื่อนรักฝ่ายเดียวกันหัก กระเด็นเป็นฝ่ายค้าน เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกกล่าวขานถึงการหักหลัง เพื่อช่วงชิงอำนาจ

“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” ขอย้อนรอยไปทบทวนความทรงจำ เหตุการณ์ที่สุดทางการเมืองแห่งปี 2566

ศึกเดิมพันอำนาจ

บรรยากาศเลือกตั้งลุกเป็นไฟ ศึกแย่งเดิมพันอำนาจประเทศไทย

4 ปี มีหนเดียว ต้องฟาดฟันกันเอาเป็น เอาตาย รอบนี้เป็นสงครามตัวแทนฝ่ายประชา ธิปไตยสู้กับกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ละพรรคล้วนแห่นโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถมหลอกล่อประชาชน

หัวหอกกลุ่มอำนาจเก่า พรรครวมไทยสร้างชาติโชว์มอตโต้ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” สานต่อนโยบาย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฟากพรรคพลังประชารัฐ ก็ปล่อยทีเด็ดเพิ่มวงเงินบัตรคนจน 700 บาทต่อเดือน รูดปรื๊ดๆให้มันมือ พ่วงเล่นบทก้าวข้ามความขัดแย้ง อาสาเป็นโซ่ข้อกลาง

...

ส่วนฝ่ายประชาธิปไตย เต็งหนึ่ง “เพื่อไทย” ชูนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้ประชาชน อ้อนชาวบ้านพาเพื่อไทยแลนด์สไลด์ทวงคืนอำนาจ

ขณะที่พรรคก้าวไกล ชูจุดขายปฏิรูปประเทศ แก้ไขมาตรา 112 และลดขนาดกองทัพ ตอกย้ำอุดมการณ์ทำงานหนักแน่น “มีลุง ไม่มีเรา”

ทุกพรรคหาเสียงขับเคี่ยวมันหยดทั้งภาคสนามและโลกโซเชียลไม่มีใครยอมใคร แม้แต่ฝ่ายเดียวกันก็ยังห้ำหั่น แทงหลังกันเอง

คำตอบหลังปิดหีบ พลังคนรุ่นใหม่อุ้มพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง เบียดแซงพรรคเพื่อไทยโค้งสุดท้ายที่มัวแต่ลังเลจะจับมือ 2 ลุงหลังเลือกตั้งหรือไม่

กลุ่มอนุรักษนิยม “รวมไทยสร้างชาติ–พลังประชารัฐ” ถูกฝังพ่ายแพ้ย่อยยับ เพราะกระแสคนเบื่อลุง

@@@@@@

เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

ไทยแลนด์โอนลี่ การเมืองแบบไทยๆ ที่ 1 ไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป ตัวอย่างตำตาเกมชิงอำนาจจัดตั้งรัฐบาล

หลังปิดหีบเลือกตั้ง สส. ก้าวไกลยึดแชมป์ 151 ที่นั่ง เพื่อไทย 141 ที่นั่ง เพื่อนรักฝั่งประชาธิปไตยเข้าป้ายที่ 1 และ 2 เลยแยกจากกันไม่ได้ จ่อจับมือตั้งรัฐบาลฉีกตำราการเมืองที่พรรคอันดับ 1 และ 2 ต้องมีคนกระเด็นนั่งฝ่ายค้าน

ก้าวไกลในฐานะแกนนำ โชว์วัฒนธรรมใหม่ วันที่ 22 พ.ค.2566 ดึง 8 พรรคแนวร่วมเซ็นเอ็มโอยูตั้งรัฐบาลทำงานร่วมกัน หวังดันก้น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ

แต่เสียงตั้งต้นมีแค่ 313 เสียง ไม่พอคว้าเก้าอี้นายกฯ วิ่งพล่านควานหาเสียงให้ครบ 376 ฝ่าด่าน สว. แต่ทำไม่สำเร็จ โหวตลุ้นในสภา 2 รอบ ก็ส่ง “พิธา” ถึงฝั่งฝันไม่ได้ ต้องส่งไม้ต่อให้เพื่อนรัก “เพื่อไทย” ตั้งรัฐบาลแทน

ทีมนายใหญ่รับไม้เหยียบคันเร่ง หาแต้มทุกทาง ถึงขั้นยอมกลืนน้ำลายตัวเองตอนหาเสียง “ไม่จับมือ 2 ลุง” ชวน “รวมไทยสร้างชาติ–พลังประชารัฐ” เหมือนเจตนาเฉดหัว “ก้าวไกล” พ้นวงตั้งรัฐบาล เพราะค่ายส้มตั้งเงื่อนไข หัวเด็ดตีนขาด “มีลุง ไม่มีเรา”

ฝ่ายอนุรักษนิยมส่งสัญญาณร่วมหอลงโรง แต่ยื่นเงื่อนไขสำคัญ ห้ามมีก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพราะรังเกียจนโยบายแก้ไขมาตรา 112

2 ส.ค.2566 ได้เวลาแตกหัก เพื่อไทยประกาศฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค แยกวงฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล ถึงเวลาทางใครทางมัน สูตรรัฐบาลใหม่ตาลปัตร ฝั่งประชาธิปไตย-อนุรักษนิยม ผสมพันธุ์ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ส่ง “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯคนที่ 30 ในวันที่ 22 ส.ค.2566

“เพื่อไทย” หักเหลี่ยมโหดเพื่อนรัก สมหวังตั้งรัฐบาลสำเร็จ แลกกับการถูกตราหน้า “เพื่อนทรยศ” ถือเป็นช็อตหักเหลี่ยมเฉือนคมที่แสบสันแห่งปี

@@@@@@

นายกฯทิพย์

ปรากฏการณ์ส้มทั้งแผ่นดิน ก้าวไกลฟีเวอร์ ชนะศึกเลือกตั้ง ดับฝันแลนด์สไลด์แชมป์เก่าเพื่อไทย

พลิกสถานการณ์เป็นหนังคนละม้วน จากก่อนเริ่มหาเสียงเลือกตั้ง วลีพา “ทักษิณ” กลับบ้านเลี้ยงหลาน สร้างความคึกคัก พาเพื่อไทยนำอยู่หลายช่วงตัว

ซ้ำร้าย 2 แกนนำค่ายส้ม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขบเหลี่ยม “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แกนนำคณะก้าวหน้า ทำสงครามว่อนโลกโซเชียล

หัวหน้าก้าวไกลฟาดวาทะร้อนใส่ศาสดาอดีตพรรคอนาคตใหม่ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” ทำกองเชียร์ด้อมส้มใจแป้ว ก่อนรีบจูบปากคืนดี แค่ชั่วข้ามคืน หันมากอดคอร้องเพลงแฮปปี้เอนดิ้ง ลบความขัดแย้ง

เครื่องจักรสีส้มเหยียบคันเร่ง ปั่นกระแส “พ่อรักส้ม–ส้มรักพ่อ” ติดลมโลกออนไลน์

ขณะที่กัปตันทีม “พิธา” ก็ตระเวนหาเสียงทุกภูมิภาค แฟนคลับแห่ฟังปราศรัย สนามแทบแตกทุกเวที เป็นหัวคะแนนธรรมชาติพันธุ์แท้ ไม่มีถอยหนี แม้ฝนจะตก แดดจะแรง

พลังคนรุ่นใหม่ฟีเวอร์ 14 ล้านเสียง พาก้าวไกลเฉือนเต็งหนึ่ง “เพื่อไทย” โค้งสุดท้าย ชนะเลือกตั้ง

แต่ถึงจะชนะศึก แต่พ่ายสงคราม ตอนจบก้าวไกลเพลี่ยงพล้ำจับขั้วตั้งรัฐบาล แถมต้องลุ้นตัวโก่ง สถานะ “พิธา” จะชะตาขาดถูกตัดสิทธิการเมือง ในคดีถือหุ้นไอทีวี และนโยบายสนับสนุนแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่

“พ่อส้ม” ตกสวรรค์จาก “นายกฯตัวจริง” เป็นได้แค่ “นายกฯทิพย์”

@@@@@@

วิบากกรรมนายกฯ

อีกไฮไลต์ที่สุดแห่งปี เกมเลือกนายกรัฐมนตรี รัฐสภาโหวตสามรอบ กว่าจะได้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ คนที่ 30 แบกความหวังคนไทย 68 ล้านคนหลังแอ่น ต้องเหยียบมิดคันเร่ง สปีดผลงานด่วนจี๋

งานแรกนั่งหัวโต๊ะ คุมแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ เผือกร้อนที่ค้างจากยุครัฐบาลที่แล้ว ได้ตัว “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผงาดผบ.ตร. ข้ามชั้นจากอาวุโสน้อยสุดขึ้นแท่นผู้นำตำรวจ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มีใบสั่ง

ถัดมาไม่กี่อึดใจ เจอเหตุการณ์ช็อก เด็กอายุ 14 กราดยิงคนห้างดังฯกลางกรุง ชาวต่างชาติเป็นเหยื่อสังเวยคมกระสุน “นายกฯนิด” กุมขมับ ต้องโร่ฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว ไม่ให้ขนหัวลุกไทยแลนด์ แดนกระสุนปืน

กลิ่นควันปืนยังคละคลุ้ง ไฟสงครามตะวันออกกลางปะทุหนัก กลุ่มฮามาสเปิดฉากถล่มอิสราเอล แรงงานไทยหลายหมื่นหนีตายหัวซุกหัวซุน บางส่วนถูกจับเป็นตัวประกัน ต้องตั้งวอร์รูมวางแผนอพยพแรงงานไทยกลับบ้าน

เส้นทางบริหารช่วงแรกขลุกขลัก เผชิญปรากฏการณ์เหนือการควบคุมเป็นระลอกคลื่น

ขณะที่การบริหารนโยบายรัฐบาลก็ติดๆขัดๆ นโยบายเรือธงหลัก ดิจิทัลวอลเล็ตล้มลุกคลุกคลาน ไม่ตรงปก ต้องเปลี่ยนเงื่อนไข ลดกลุ่มเป้าหมายแจกตังค์ ยังไม่รู้เงินหมื่นจะถึงมือประชาชนได้เมื่อไร

ซ้ำยังต้องลุ้นตัวโก่งร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่จะเอามาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็สุ่มเสี่ยง ถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด รอวัดดวงจะรอดหรือร่วง

3 เดือนแรก “นายกฯนิด” ล้มลุกคลุกคลาน เส้นทางต่างกันราวฟ้ากับเหวกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ลงจากหลังเสืออย่างสบายใจ ปูพรมแดงจากทำเนียบรัฐบาลและได้ขึ้นแท่นองคมนตรี

@@@@@@

เก้าอี้ประธานชุลมุน

หักเหลี่ยมเฉือนคม ไม่แพ้การชิงจัดตั้งรัฐบาล เกมแย่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร

“ก้าวไกล–เพื่อไทย” อยากยึดไว้เป็นสมบัติตัวเอง ฝั่งก้าวไกลส่ง “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก ชิงเก้าอี้ กะไว้คุมเกมตอนโหวตนายกฯ อ้างความชอบธรรมในฐานะพรรคอันดับ 1

เพื่อไทย พรรคอันดับ 2 ไม่ยอมง่ายๆ เพราะอยากล็อกเก้าอี้ประธานสภาฯเป็นของตัวเอง กันเหนียวไว้ใช้ประโยชน์ เผื่อการเมืองพลิกขั้ว ต้องจัดสมการตั้งรัฐบาลใหม่

ยื้อยุดฉุดกระชาก สู้กันแรมเดือน ไม่มีใครยอมใคร สุดท้ายเพื่อไทยแก้เกม ทาบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานสภาฯ รับตำแหน่งแทน

ก้าวไกลเจอแผนเหนือเมฆ ส่งคนกลางที่มีชั่วโมงบินเหนือกว่า บีบให้คายโควตาประธานสภาฯ ได้แค่เก้าอี้รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นรางวัลปลอบใจ

เป็นจุดเริ่มต้นปฏิบัติการเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ที่ก้าวไกลต้องเสียเก้าอี้นายกฯ ในเวลาต่อมา

เสียเหลี่ยมอดีตเพื่อนรัก แต่เรื่องวุ่นๆกลับไม่จบ “หมออ๋อง” ทำหน้าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 แบบหัวหกก้นขวิด เจอแรงปะทะต่อเนื่อง ทั้งปมโพสต์รูปสุราท้องถิ่น ใช้งบสภาฯ เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้าน ถลุงงบไปดูงานสิงคโปร์ เป็นดงกระสุนตก ถูกถล่มสะบักสะบอม

ซ้ำค่ายส้มยังเสียดุลต่อเนื่อง ต้องขับ “หมออ๋อง” พ้นพรรค แลกการเดินหน้าเป็นผู้นำฝ่ายค้านเต็มตัว เพราะกฎเหล็กรัฐธรรมนูญ ห้ามพรรคที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านนั่งเก้าอี้ประธานและรองประธานสภาฯ

ก้าวไกลขาดทุนป่นปี้ ไม่เหลือทั้งเก้าอี้นายกฯ ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ

@@@@@@

นายใหญ่กลับบ้าน

ถึงเวลากลับบ้านของจริง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เหยียบแผ่นดินเกิด ยุติเส้นทางเร่ร่อน 15 ปี

เที่ยวนี้ไม่ได้เลื่อนลอย เพราะหลุดจากปาก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวสุดที่รักคอนเฟิร์มเอง ถึงวันนัดหมาย 22 ส.ค.2566 นายใหญ่มาตามนัด แลนดิ้งสนามบินดอนเมือง โชว์ตัวเป็นๆ คนตระกูล “ชินวัตร” และแฟนคลับเพื่อไทยห้อมล้อมต้อนรับแน่นขนัด

โปรแกรมคัมแบ็กบ้านเกิด พอดิบพอดีวันโหวต “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนสื่อเป็นนัยกลับมาเพื่อบัญชาการทัพการเมือง

นายใหญ่ยอมก้มหน้าเข้าคุก ถูกนำตัวส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฟังคำพิพากษา 3 คดีทุจริต โดนจำคุก 8 ปี ส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

แต่ผลตรวจร่างกายพบเป็นกลุ่มเปราะบาง อายุเกิน 60 ปี มีโรคประจำตัวอื้อ ต้องเฝ้าระวัง นอนคุกไม่พ้นคืนแรกก็แน่นหน้าอก ความดันสูง ออกซิเจนต่ำ ต้องส่งตัวด่วนจี๋เข้าโรงพยาบาลตำรวจ

ปักหลักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ไม่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ กระทั่งวันที่ 1 ก.ย.2566 มีการประกาศพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก “ทักษิณ” 1 ปี

ป่วยยาวนอนโรงพยาบาล 4 เดือน ไม่หายสักที อ้างจรรยาบรรณการแพทย์เปิดเผยข้อมูลไม่ได้ ป่วยด้วยโรคอะไร หูทวนลมกระแสเรียกร้องให้ส่งตัวกลับไปนอนคุก ห้ามมีอภิสิทธิ์ชนเหนือนักโทษคนอื่น

ถูกเรียกขาน นักโทษวีไอพี ชั้น 14 ท่ามกลางข้อกังขาสังคม “ป่วยจริง” หรือ “การละคร”

เพื่อไทยผลัดใบ

ถ่ายเลือดใหม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ถึงเวลาเจเนอเรชันรุ่นลูกเพื่อไทยตะลุยการเมือง

“อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวสุดที่รัก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ลุยโคลนการเมืองเต็มตัว กระโจนลงสนามเลือกตั้ง เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย อุ้มท้องลูกคนที่ 2 ตระเวนช่วยลูกพรรคหาเสียงทั่วสารทิศ เรียกความเห็นใจแฟนคลับ กลายเป็นไฮไลต์หาเสียง

โชว์วิสัยทัศน์บริหาร จังหวะการพูด โคลนนิ่งดีเอ็นเอมาจากคนเป็นพ่อ ถึงจะนำทัพเพื่อไทยสร้างแลนด์สไลด์ไม่สำเร็จ ได้แค่ที่ 2ในสนามเลือกตั้ง แต่ได้ ใจแฟนคลับทั่วประเทศ

แม้สุดท้ายพรรคเพื่อไทยส่ง “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นเป็นนายกฯ แต่ “อุ๊งอิ๊ง” ยังไม่หมดบทบาทการเมือง ผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ วันที่ 27 ต.ค.2566 แบบไร้คู่แข่ง

นำทัพคนรุ่นใหม่บริหารพรรค ประกาศไม่ทิ้งดีเอ็นเอพรรคเพื่อไทย “ตาดูดาว เท้าติดดิน” อยู่เคียงข้างประชาชน รอทวงคืนความยิ่งใหญ่ นำ “เพื่อไทย” กลับมาเป็นพรรคอันดับ 1 อีกครั้ง

ลูกพรรคแห่ซูฮก ยกเป็นศูนย์รวมใจพรรคเพื่อไทย รับบทสำคัญในรัฐบาล เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หัวหอกขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ อีกนโยบายสำคัญของรัฐบาล บทบาทโดดเด่นตีคู่นายกฯตัวจริง

รอทะยานขึ้นเป็นนายกฯต่อไป ตามทางที่พ่อปูไว้ คงไม่หยุดแค่เก้าอี้หัวหน้าพรรคแน่

@@@@@@

ปชป.อมโรค

ภาพรวมรอบปีพรรคประชาธิปัตย์อมโรคเรื้อรัง หลัง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ประกาศลาออกเก้าอี้หัวหน้าพรรค เซ่นนำพรรคพ่ายศึกเลือกตั้งย่อยยับ

ประชาธิปัตย์ไร้ผู้นำพักใหญ่ แม้จะเลือกหัวหน้าพรรค 2 รอบ แต่องค์ประชุมล่มรวด หาหัวใหม่ไม่ได้ เพราะขั้วอำนาจใหม่ขบเหลี่ยมขั้วอำนาจเก่า

ขั้วผู้เฒ่า “ชวน หลีกภัย” มี สส. 4 คน สั่งเหยียบเบรกกลุ่มอำนาจใหม่ 21 สส.ของ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เพราะระแวงดีลลับฮ่องกง แอบเจรจา “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ พาประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

สุดท้ายน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรค วันที่ 9 ธ.ค.2566 กลุ่มอำนาจใหม่เข็น “เสี่ยต่อ” ยึดเก้าอี้หัวหน้าพรรคสำเร็จกลับลำจากที่เคยลั่นวาจาเลิกเล่นการเมือง หลังพาพรรคบอบช้ำพ่ายเลือกตั้ง

แม้ “ปรมาจารย์ชวน” จะส่งชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกฯ ชิงสู้ บรรยากาศคุกรุ่นถึงขั้น “อภิสิทธิ์–เฉลิมชัย” ต้องปิดห้องเคลียร์ใจ แต่สุดท้ายไม่เป็นผล “เดอะมาร์ค” ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค

ขั้วอำนาจใหม่ “เสี่ยต่อ” ยึดประชาธิปัตย์เบ็ดเสร็จ มีมือขวา “เดชอิศม์ ขาวทอง” สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค ส่วน “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค คู่แข่งถูกตัดสิทธิชิงเก้าอี้ แต้มบุญไม่ผ่านเกณฑ์ 3 ใน 4 ให้ยกเว้นข้อบังคับพรรค เพราะเป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี

ถ่ายเลือดใหม่แต่ยิ่งร่อแร่ สมาชิกแห่ไขก๊อก เลือดทะลักรายวัน ไม่ได้สร้างความหวังฟื้นศรัทธา

ทรงๆทรุดๆ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ตาย แต่ก็ไม่โต ลดไซส์จากพรรคใหญ่ เป็นแค่พรรคอะไหล่

@@@@@@

พรรคส้มอลหม่าน

สารพัดเรื่องฉาวยาวเป็นหางว่าว กระหน่ำก้าวไกลมัวหมอง ลูกพรรคสร้างเรื่องเกือบตลอดปี

ประเดิมจาก “ณธี ภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์” ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ถูกจับเมาแล้วขับ ต้องแถลงไขก๊อกแสดงสปิริตลาออก ถัดมาคิว “สิริน สงวนศิลป์” สส.กทม. ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายแฟนสาว แต่เจ้าตัวสำนึกผิดขอโทษ เลยไม่ถูกขับออก แค่คาดโทษตัดสิทธิพึงมีในพรรค รายที่ 3 “นครชัย ขุนณรงค์” สส.ระยอง โดนจับโป๊ะเคยต้องโทษติดคุกคดีลักทรัพย์ ต้องลาออกเซ่นผิดย้อนหลัง รายที่ 4 “เกรียงไกร จันกกผึ้ง” อดีตผู้สมัคร สส.ชัยภูมิ ถูกร้องคดีล่วงละเมิดทางเพศ ต้องกระเด็นพ้นพรรค

ปลายปีฉาวหนัก “แจ้” วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี ติดบ่วงแชตสยิว เข้าข่ายพฤติกรรมคุกคามทางเพศทีมงานพรรค แม้อ้างถูกกลั่นแกล้ง เพราะไปแฉทุจริตคนในพรรคเรื่องโรงงานกำจัดขยะ แต่สุดท้ายถูกขับพ้นพรรค ระเห็จไปอยู่พรรคชาติพัฒนากล้า

ส่งท้ายด้วยเรื่องคุกคามพฤติกรรมทางเพศ “ปูอัด” ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. ถูก 3 อดีตผู้ช่วยสาวแฉพฤติกรรมฉาว ต้องออกแรงเหนื่อย 2 รอบ กว่าจะขับพ้นพรรคสำเร็จ

ซ้ำเกือบทำพรรคแตก เพราะโหวตลงโทษรอบแรกดันแห่อุ้มคนทำผิด ทำ สส.หญิงในพรรคควันออกหู ต้องโร่ประชุมสำเร็จโทษกันอีกรอบ ส่ง “ปูอัด” ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่พรรคไทยก้าวหน้า

ค่ายส้มช้ำหนักจากปมฉาวๆ พฤติกรรมติดลบ เจ็บตัวเสียรังวัดตลอดปี

“ทีมการเมือง”

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่