“นายกฯ เศรษฐา” ย้ำ ต้องไม่รู้จักเหนื่อย ยันไม่มีการออกกฎหมายเพื่อดูแลใคร ชี้ “ทักษิณ” ได้รับการดูแลเป็นไปตามกฎกติกา ลั่นฝ่ายค้านซักฟอกมีหน้าที่ตอบ ย้ำ 314 เสียง รัฐบาลเสถียรภาพแน่น
วันที่ 24 ธ.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์สดในรายการ “เนชั่นทันข่าวเช้า” ทางช่องเนชั่น ทีวี ถึงภาพรวมการทำงานของรัฐบาลในปี 2566 ว่า หากให้ประเมินแบบการให้คะแนนตนคงไม่ให้ เพราะเป็นหน้าที่ที่คนอื่นที่ต้องให้ แต่ว่าตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งก็ทำงานอย่างเต็มที่ รัฐบาลเราให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว อีกทั้งยังมีเรื่องของนโยบายภาพรวมในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญด้วย เมื่อถามผลประเมินที่บางฝ่ายออกมาให้คะแนนนายกฯ เข้าเกณฑ์สอบผ่าน สะท้อนถึงการทำงานหนักด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หากเราทำงานหนักแล้วประชาชนยังเดือดร้อน ลงไปพื้นที่ยังเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านทำเต็มที่ ไม่ใช่แค่ตนทำงานคนเดียว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันหมด อีกทั้งปัญหาต่างๆ ก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักการเมืองอยู่แล้วที่อาสามา เข้ามาตรงนี้ทราบอยู่แล้วว่าต้องทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนั้น ยังคงเป็นไทม์ไลน์เดิมคือ พ.ค.ปีหน้า สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ ขอให้ใช้เวลาพักผ่อนให้เต็มที่ ระมัดระวังเรื่องของการเดินทาง ที่สำคัญคือเมาไม่ขับ ขอให้ทุกคนปลอดภัย และปีหน้าขอให้เป็นปีที่ดีขึ้น ส่วนทางรัฐบาลก็จะทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณีการรักษาตัวในโรงพยาบาลครบ 120 วันของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงกรณีเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล และมีกระแสข่าวว่านำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับนายกฯ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเข้ามาด้วย มีการพูดคุยกันในหลายเรื่องที่เราติดตามกันอยู่ เป็นคดีที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ ประเด็นของนายทักษิณ อย่างที่ตนได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วเมื่อวาน (23 ธ.ค.) ว่า ขอให้เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ กับโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตนมั่นใจว่าเขาไม่ได้ออกกฎระเบียบมาเพื่อดูแลคนคนเดียว ต้องคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก รวมถึงเชื่อว่าทั้งสองหน่วยงานจะยึดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย เมื่อถามว่าความพยายามเชื่อมโยงประเด็นของนายทักษิณ มาเป็นเรื่องของการเมือง จะเป็นการกดดันทางการเมืองในปีหน้าหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าทุกเรื่องก็คงเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมดหากจะโยงกันจริงๆ แต่เราก็ยึดมั่นในกฎระเบียบที่ไม่ได้ทำมาเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าเป็นไปตามกฎแล้วทุกคนมีสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกกล่าวโทษ หรือผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลตำรวจเอง ท่านเองก็เป็นนายกรัฐมนตรีมาสองสมัย และเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมา ท่านก็ได้รับการดูแล แต่เชื่อทุกอย่างเป็นไปตามกฎกติกาที่ได้วางกันไว้ ส่วนเรื่องจะมาเป็นประเด็นทางการเมืองมากน้อยขนาดไหนอย่างไร ตนคงไม่ไปทำนายส่วนนั้นได้ แต่เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไขกันไป มีอะไรไม่กระจ่างก็ต้องชี้แจงกันไป แต่เรายึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว
...
เมื่อถามถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านออกมาระบุ เตรียมขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงปีหน้าว่า นายเศรษฐา กล่าวว่า การตรวจสอบเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านอยู่แล้ว หน้าที่เราคือทำงาน แต่หากมีการสอบถามมาหรือถึงขั้นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเราก็มีหน้าที่ต้องตอบ ยืนยันไม่มีความหนักใจ เราทำงานเอาประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านรวมถึงตน ตอบอยู่แล้วถึงเรื่องที่เราทำกันมา
เมื่อถามถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเข้าร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นคำถามที่ค่อนข้างเปราะบาง พรรคร่วมรัฐบาลเราทำงานกันมาอย่างเต็มที่ เรามีภารกิจใหญ่ที่เราต้องยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ตนเชื่อว่าทุกคนทำงานเต็มที่ ส่วนเรื่องจะปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น คงต้องดูเรื่องของความเหมาะสม ไม่อยากให้รัฐมนตรีทุกท่านมีความไม่สบายใจ ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี มีอะไรเราก็คุยกัน ส่วนเรื่องพรรคการเมืองใหม่ที่จะเข้ามาร่วมรัฐบาลนั้น ปัจจุบันเรามี 314 เสียงอยู่แล้ว แต่ก็เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็อาจจะมาช่วยโหวตตนในช่วงการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งอาจจะมีเรื่องที่เราพูดคุยกันได้บ้างก็ขอให้เป็นเรื่องของอนาคต “แต่วันนี้เรามี 314 เสียงแล้วถือว่ามีเสถียรภาพ และทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเราคุยกันได้ด้วยดี เรื่องของนโยบายก็ได้พูดคุยกันอยู่ตลอด อาจมีเห็นตรงเห็นต่างกันบ้างเป็นเรื่องปกติ เอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง อีกทั้งรัฐมนตรีหลายท่านก็คุ้นเคยกันดี ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เมื่อถามถึงนโยบายรัฐบาลที่บางเรื่องมีความเห็นแตกต่างกับรัฐมนตรีต่างพรรคการเมือง เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน และถ้าพูดถึงกระทรวงแรงงาน ก็น่าเห็นใจ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ท่านเองก็ไม่ได้มีอำนาจไปแทรกแซงไตรภาคีได้ แต่ท่านเองเห็นด้วยกับตนว่ามันขึ้นน้อยเกินไป
“ผมไม่มีความสุข และไม่เห็นด้วยที่ขึ้นมาเพียงเท่านี้ เชื่อว่าท่านรัฐมนตรีก็คงไม่เห็นด้วย แต่ท่านก็พยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป”