การขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่ากลายเป็นทั้งปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและปัญหากฎหมาย คล้ายกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท แม้คณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย จะยืนยันถึงสองครั้งจะขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า 2.37% ขึ้นให้จังหวัดละ 2 บาทถึง 16 บาท แต่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน บอกน้อยเกินไป

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากพรรคภูมิใจไทย จึงต้องหาทางออกด้วยการประกาศว่าจะนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และมอบให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาข้อมูลต่างๆ และคาดว่าจะสามารถขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าได้ในเดือนเมษายน ช่วงใกล้เคียงกับการแจกเงินคนละหมื่นบาท

ต้นตอของปัญหาคือ นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่สัญญาว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 แต่จะขึ้นให้ก่อนวันละ 400 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ปัจจุบันค่าจ้างขั้นตํ่าของไทยอยู่ที่ 328 ถึง 354 บาท แต่มีเสียงวิจารณ์ทั้งจากฝ่ายนายจ้างและนักวิชาการบางส่วน

ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมไทยเตือนว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 400 บาท จะกระทบถึงการประกอบธุรกิจและการจ้างงานในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 46 ประเภท ที่เน้นการใช้แรงงาน เช่น สิ่งทอ รองเท้า การผลิตอาหาร บางอย่างอาจต้องปิดตัวเอง บางอย่างอาจต้องย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน

นายกสมาคมวิสาหกิจเอสเอ็มอีเตือนว่า หากรัฐขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 400 บาท จะส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่าเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 300 บาท เมื่อสิบปีก่อน 5 วันแรก มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างเกือบ 2,500 คน และพุ่งขึ้นเป็นกว่า 243,000 คน ระหว่างเดือนเมษายนถึงธันวาคม 2555

รัฐบาลยิ่งลักษณ์สืบทอดอำนาจมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และแปรสภาพเป็นพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่อยู่ในอำนาจค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากดำเนินนโยบายลด แลก แจก แถม หรือมหาประชานิยมที่ประชาชนชื่นชอบ รัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างวีรกรรมสำคัญถึง 2 เรื่อง ทั้งที่อยู่ในอำนาจไม่กี่ปี

...

วีรกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าก้าวกระโดดเป็น 300 บาท วีรกรรมที่สองคือ โครงการรับจำนำข้าว กลายเป็น “ต้นบัญญัติ” รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช. ต้องบัญญัติห้ามทุกรัฐบาลไม่ให้ปกครองประเทศ เพื่อมุ่งสร้างคะแนนนิยมเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม