"พัชรวาท" เผย คกก.แก้มลพิษฯ เห็นชอบเสนอ ครม.ของบฯ กลางปี 2567 แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งระบบ พร้อมตั้งงบฯ แผนงานยุทธศาสตร์ฯ ปี 68 เพื่อบูรณาแก้ไขปัญหาของทุกหน่วยงาน ลั่นฝุ่นพิษ-จุดความร้อนต้องลดลง พร้อมเห็นชอบ "ชัชชาติ" นั่ง ผอ.ศูนย์ฯ แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กทม.

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 66 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงกรณีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการขอรับการจัดสรรงบกลาง ในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง จำนวน 10 โครงการ เพื่อของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 อาทิ โครงการสนับสนุนการดับไฟป่าโดยใช้อากาศยานปีกหมุน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ โดยศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่า โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), โครงการส่งเสริมและพัฒนาการสื่อสารประชาสัมพันธ์การป้องกันผลกระทบสุขภาพ จากปัญหามลพิษทางอากาศ กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, โครงการจัดหาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือแบบครบวงจร โดยกรมควบคุมมลพิษ, โครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้, โครงการปฏิบัติภารกิจการสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยศูนย์ปฏิบัติการบินควบคุมไฟป่ากองทัพอากาศ

...

ขณะเดียวกันยังมีการจัดตั้งงบประมาณ "แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5" ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกในการบูรณาการบริหารจัดการแก้ไข ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ต้องลดลงและจำนวนจุดความร้อนต้องลดลง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้สำนักงบประมาณเพิ่มเติม "แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5" ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่จัดตั้งไว้แล้วใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดในปริมณฑล เพราะพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศที่ประสบวิกฤติฝุ่น PM 2.5 และได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PHEOC) กับศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฯ เพื่อให้มีการบูรณาการและสื่อสารข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งในการแก้ไขปัญหาฝุ่นและด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน