“ศ.ดร.นฤมล” ผู้แทนการค้าไทย เปิดภารกิจขับเคลื่อนการค้า-ลงทุนไทยรับปี 67 ถกผู้พัฒนา WeChat ดึงเกษตรกร-SME รุกขยายตลาดจีนเพิ่ม โดยเฉพาะผลไม้-เครื่องสำอางแบรนด์ไทยมาแรง 

วันที่ 21 ธ.ค. ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย (TTR) เปิดเผยว่า เป้าหมายของผู้แทนการค้าไทย เป็นหนึ่งในทีมไทยแลนด์ที่จะร่วมกันดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และร่วมผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยปี 2567 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคส่งออกที่เดือน ต.ค. 66 เป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และคาดว่าปลายปีที่เหลือจะเป็นบวกต่อเนื่อง โดยมีจีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สร้างเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าจากอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้ง ผลไม้ ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้สด กลุ่มเกษตรแปรรูปยางพารา รวมถึงเครื่องสำอาง (Cosmetic) ที่เป็นแบรนด์ไทย พบว่ากำลังได้รับความนิยมจากตลาดจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสขยายตลาดจีนอยู่อีกมาก เมื่อเร็วๆ นี้จึงได้หารือกับทางผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม WeChat จากจีน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาเป็นแอ็กเคานต์สำหรับประเทศไทย เพื่อให้เกษตรกรและวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น

“จีนมีระบบการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันเฉพาะตัว นั่นคือ WeChat ที่ใช้สั่งซื้อสินค้า จ่ายค่าน้ำค่าไฟ แม้กระทั่งกู้เงิน เขาอยู่ตรงนี้หมด เขาไม่ได้ใช้ Facebook ไม่ใช้ Google เราจึงต้องมองช่องทางที่ให้เข้าถึงลูกค้าเขาจริงๆ จึงเชิญทางผู้พัฒนา WeChat มาหารือว่า ถ้าเราจะเข้าถึง B2B2C (Business to Business to Customer) หรือผู้บริโภค 1,400 ล้านคนในจีน เราจึงมองหนทางทำเป็นแอ็กเคานต์ของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์หรือหน่วยงานใดที่จะรวบรวมผู้ประกอบการเข้ามาแล้วโปรโมต ซึ่งขณะนี้หลายประเทศได้ใช้วิธีการดังกล่าว เพื่อส่งสินค้าเข้าถึงกลุ่มตลาดจีน ทั้งญี่ปุ่น รัสเซีย เป็นต้น” ศ.ดร.นฤมล กล่าว...

...

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการเปิดตลาดและส่งสินค้าเกษตรไทย ยังมีช่องทางขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือกับบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป ประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน เพื่อร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย นำผลผลิตยางพาราไปสู่การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราของไทยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทดังกล่าวได้มีการตั้งโรงงานรถยนต์ในไทย ภายใต้ยี่ห้อ Double Coin ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 มีการใช้วัตถุดิบยางพาราของไทยถึง 150,000 ตันต่อปี และมีแผนขยายโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 5 โรงงาน โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อส่งออกยางรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สุด หากบรรลุข้อตกลงทั้งสองฝ่าย เชื่อว่าจะทำให้ความต้องการผลผลิตยางพารา ทั้งน้ำยาง ยางแผ่น แผ่นยางรมควัน ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้

สำหรับด้านการลงทุนนั้น จากการหารือกับนักลงทุนในต่างประเทศ ทั้งหอการค้า และสภาธุรกิจของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่สนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ยังมีความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำถามใน 3 ประเด็นหลักในการหารือ ประกอบด้วยการจัดหาแหล่งน้ำ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และนโยบายการพัฒนาพลังงานสะอาดของไทย โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความห่วงใยในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำ มีแผนการจัดการน้ำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไทยมีแผนรองรับที่ชัดเจน โดยการขับเคลื่อนของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ส่วนในเรื่องระบบโลจิสติกส์ ต้องการให้ขยายระบบโครงสร้างพื้นฐานในทุกระบบ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ที่จะยกระดับระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย และมีความพร้อมรองรับการขยายตัวด้านการขนส่งสินค้าทั้งระบบราง น้ำ และอากาศ

ส่วนในด้านพลังงานสะอาด ไทยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาพลังงานสะอาด ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีความก้าวหน้า สอดรับกับทิศทางการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อมุ่งไปสู่ Carbon neutral ในปี 2065

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในรูปแบบพหุภาคีและทวิภาคี ซึ่งมีอยู่แล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ภายใต้การทำงานของ TTR ยังคำนึงถึงโอกาสการทำตลาดในหลายกลุ่มที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เร่งขยายตลาดส่งออก และดึงดูดเงินลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีครอบคลุมตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกให้ไทยมากขึ้น เพราะสมาชิก 15 ประเทศภายใต้ RCEP มีประชากร 2,222.8 ล้านคน คิดเป็น 30.1% ของประชากรโลก และครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 ของ GDP โลก

“ดังนั้นหน้าที่ของผู้แทนการค้า ต้องมองหาโอกาสในการทำตลาดของสินค้าไทยในเวทีเหล่านี้ ซึ่งไทยยังสามารถเจาะเข้าไปได้อีกจำนวนมาก ด้วยศักยภาพของเอกชนไทย หนุนด้วยนโยบายรัฐบาล การขยายตลาดและการเพิ่มเม็ดการลงทุนเข้ามาสู่ไทย จะเสริมให้ไทยรักษาขีดความสามารถการแข่งขันให้เติบโตต่อเนื่อง” ศ.ดร.นฤมล กล่าว