"ชลธิชา" ก้าวไกล กระทู้ ถามเศรษฐา ปมสิทธิพิเศษคุมขัง "ทักษิณ" ด้าน "รมว.ยุติธรรม" แจงแทน นายกฯ ตามรายงานแพทย์ ยัน ป่วยจริง ชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ ลั่น ระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ใช้กับทุกคน

วันที่ 21 ธ.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่ง ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ว่า นายเศรษฐา ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่า จะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรม และหลักประกันว่ากฎหมายจะเป็นธรรม บังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค จึงอยากถามถึงความเป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ต้องขัง รวมทั้งสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง เพราะผู้ต้องขังทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เช่นเดียวกัน และกรมราชทัณฑ์ จะมีการเกณฑ์พิจารณาการให้สิทธิผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาพยาบาลด้านนอกอย่างไร เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสงสัย เพราะนายทักษิณเข้าเรือนจำไม่ถึง 1 วัน ก็ถูกส่งตัวออกมารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกิน 120 วัน หากเทียบกับสิทธิของผู้ต้องขังรายอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับนายทักษิณ เช่น นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ตรวจพบว่า เป็นฝีที่ตับ แต่กลับถูกส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างที่การรักษาไม่แล้วเสร็จ และแพทย์ระบุว่า เหตุของโรคมาจากความไม่ถูกสุขลักษณะภายในเรือนจำ

น.ส.ชลธิชา กล่าวต่อว่า กรณีของนายทักษิณ ทำให้สังคมตั้งคำถาม และขอให้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความจำเป็นที่นายทักษิณต้องพักรักษาตัวในห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่เป็นชั้นวีไอพี มีความเหมาะสมและจำเป็นอย่างไร เพราะตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ห้ามแยกผู้ต้องขังอยู่ห้องพิเศษแยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเลือกปฏิบัติผู้ต้องขังที่ร่ำรวย รวมถึงการออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ให้คุมขังนอกเรือนจำได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณหรือไม่ คดีใดบ้างจะเข้าตามระเบียบใหม่

...

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจง แทนนายเศรษฐา ว่า นายทักษิณ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันที่ 22 ส.ค. 2566 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่รัฐบาลเศรษฐา แถลงนโยบายวันที่ 11 ก.ย. 2566 กระบวนการของนายทักษิณ รัฐบาลนี้จึงไม่ได้รับรู้ และการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลปัจจุบัน และเมื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มีหน้าที่ปฏิบัติตาม ยืนยันว่า รัฐบาลปัจจุบันยึดหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ตรวจดูถึงการออกกฎหมาย เพราะถูกตราหน้าจากสังคมโลก ว่า มีนักโทษล้นคุก และมีลักษณะการทรมาน ทำให้ไม่สามารถบริหารโทษผู้ต้องขังเฉพาะรายได้อย่างเหมาะสม เพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจ รวมถึงให้มีสถานควบคุม หรือคุมขังประเภทอื่นนอกจากเรือนจำทำให้การบริหารเรือนจำไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยกฎหมายหลักออกมาเมื่อปี 2560 แต่ไม่มีผู้ออกกฎรองหรือระเบียบ เพราะกรรมการราชทัณฑ์ไม่เคยมีการประชุม จนเข้ารับตำแหน่ง

รมว.ยุติธรรม ชี้แจงด้วยว่า ส่วนกรณีของนายทักษิณ ที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ทราบว่า พักรักษาตัวนอกเรือนจำ ครบ 120 วัน ซึ่งจะพูดเฉพาะข้อเท็จจริงที่ได้รับเป็นเอกสารเท่านั้น เพราะหากพูดเกินไปจะถูกมองว่าเป็นศรีธนญชัย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ ทั้งนี้ รับทราบจากอธิบดีราชทัณฑ์ว่า วันนี้ (21 ธ.ค.) จะส่งรายงานมา และมีหน้าที่เพียงรับทราบ แต่ไม่ใช่ผู้อนุมัติ

“ผมทราบว่ามีตัวแทนของหมอโรงพยาบาลตำรวจเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ และผมได้พูดคุยว่า เรือนจำคือที่คุมขังผู้ต้องขัง และสิ่งที่ต่อเนื่องตามกฎหมายถือว่าออกไปไหนไม่ได้ และมีผู้ควบคุม ไม่มีใครเยี่ยมได้ ซึ่งเป็นระเบียบเดียวกันกับเรือนจำ ผมถามหมอตรงๆ ท่านยืนยันว่า นายทักษิณป่วยจริง มีหลักฐานตามที่ปรากฏจริงและจากรายงานจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำ พบว่าผู้ป่วยเป็นหลายโรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง และเป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ยืนยันว่าป่วยจริง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับระเบียบราชทัณฑ์เป็นเกณฑ์ปกติ ไม่ใช่เฉพาะนายทักษิณ ซึ่งออกระเบียบแล้วไม่ใช่จะจบเรื่อง เพราะต้องเข้าประชุมกรรมการ ที่จะประชุมต้นเดือน ม.ค. 2567 ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมด้วย และขณะนี้เตรียมออกระเบียบอีกฉบับ ให้การคุมขังนอกเรือนจำครอบคลุมผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนด้วย โดยให้ศาลพิจารณา

“ตามรายงานที่ปรากฏมาให้ผม ชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ และผมยังพบผู้ใหญ่บางคนไปเยี่ยมญาติที่ชั้น 14 เหมือนกัน แต่เป็นคนละส่วนกัน แต่การรักษาความปลอดภัยมีตามระบบของราชทัณฑ์ ส่วนเอกสารเกี่ยวกับสุขภาพ เรื่องอาการป่วย ไม่สามารถให้ได้ เพราะตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะต้องเป็นความลับ และรายละเอียดอื่นจะมอบให้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว