“แพทองธาร” ชี้ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ จำเป็นต้องทำควบคู่กับการเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ระบุเรื่องขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ จัดกิจกรรมเทศกาลดนตรี ต้องจบที่หน่วยงานเดียว เป็น ONE STOP SERVICE อำนวยความสะดวก

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมงาน NT Connect : Digital Gov

Next Move ณ อาคารสโมสร บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานใหญ่ โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 

นางสาวแพทองธาร ตอกย้ำถึงกระบวนการที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำลังทำอีกครั้ง ว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือการงานตั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยต้นน้ำ คือ การพัฒนาคน ผ่านนโยบาย OFOS หรือ หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ กลางน้ำคือ การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยวันนี้ทีมคณะกรรมการ มีภาคส่วนเอกชนเข้ามาร่วมถึง 11 อุตสาหกรรม และสุดท้าย ปลายน้ำ นั่นคือ นโยบายต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดการทำงานวันนี้ต้องผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมดเพื่อสร้างเครื่องมือที่ทันสมัย ใกล้ประชาชนเพียงปลายนิ้ว และเป็นศูนย์กลางการจัดระบบข้อมูลและองค์ความรู้ทั้งหมด โดยนางสาวแพทองธารยกตัวอย่างเช่น 


นโยบาย OFOS จะต้องมีการลงทะเบียนทั่วประเทศ ผ่านกองทุนหมู่บ้าน และลงทะเบียนผ่านออนไลน์ ซึ่งระบบลงทะเบียนนี้จะได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงการอบรมที่จะเปิดอบรมทั้งออนกราวด์ และออนไลน์เช่นกัน รวมถึง ‘ระบบจัดการฐานข้อมูล’ ทั้งหมดที่จะต้องเชื่อมโยงถึงกันผ่านระบบคลาวด์ 

...

ตัวอย่างที่สอง นั่นคือ ‘ข้อมูลแรงงานทักษะสูงทั้งประเทศ’ ที่ประชาชนเข้าไปฝากประวัติการทำงาน ทำให้คนที่อยากเข้าไปหาคนทำงานสามารถเข้าเว็บไซต์เพื่อไปค้นหาคนทำงานได้ คล้ายระบบของ Linkedin 

“วันนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีข้อมูลนะคะ เรามี แต่ข้อมูลแรงงานกระจัดกระจายอยู่ที่กระทรวงแรงงานบ้าง กระทรวงอุตสาหกรรมบ้าง กระทรวงอุดมศึกษาบ้าง ถึงเวลาที่เราต้องรวมข้อมูลเข้าด้วยกัน และทำแพลตฟอร์มที่เอื้อให้คนมาพบกับคน งานมาเจอกับงาน ไอเดียมาเจอไอเดีย และต่อยอดทำงานสร้างสรรค์ต่อไปได้”

ตัวอย่างที่สาม คือหน่วยงานที่เป็น ONE STOP SERVICE อำนวยความสะดวกให้กับคนจากทุกอุตสาหกรรม หากใครมีปัญหาอะไรในการติดต่อราชการ ให้ติดต่อมาที่หน่วยงานนี้ หน่วยงานนี้จะมีข้อมูล และ ระบบที่ยืดหยุ่นพอจะจัดการปัญหาให้ได้ 

“เช่น การขออนุญาตถ่ายภาพยนตร์ในสถานที่ต่างๆ, การจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรี ที่คนทำงานต้องเคยไปขออนุญาตใช้งานหลายๆ กระทรวง หลายๆ กรม ต่อไปติดต่อเข้าไปหน่วยงานนี้ที่เดียว ก็ขออนุญาตได้เลย ทำงานได้เลย ไม่ยุ่งยาก ไม่เสียเวลา เอาเวลาและแรงกายนั้นไปผลิตงานสร้างสรรค์ที่ตัวเองตั้งใจ” 

นางสาวแพทองธาร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะเป็นหน่วยงาน ONE STOP SERVICE ได้ เราจะต้องเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้ได้เสียก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีทางทำงานที่รวดเร็ว และลดขั้นตอนเอกสารลงไปได้ และทั้งหมดนี้เป็นเพียง ‘ตัวอย่าง’ ที่บอกว่า การทำงานเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ จำเป็นที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการเป็น ‘รัฐบาลดิจิทัล’