ต้องยอมรับว่าความสามารถและความกระตือรือร้นส่วนตัว ทำให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปพบปะเจรจากับผู้นำต่างประเทศ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจ เพื่อจูงใจให้มาลงทุน หรือท่องเที่ยวประเทศไทย ต่างจากนายกรัฐมนตรีคนก่อน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยแอนตี้

เพียงไม่กี่เดือนนับแต่เข้ารับตำแหน่ง นายกฯเศรษฐาเดินทางไปมาแล้วเกือบทั่วโลก กระทบไหล่มาแล้วกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ อเมริกา ประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย และสีจิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนล่าสุดคือร่วมการประชุมสุดยอด 50 ปี ของอาเซียนกับญี่ปุ่น ที่เป็นไปด้วยความชื่นมื่น

นอกจากจะพบเจรจากับนายก รัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นแบบทวิภาคี เพื่อชักชวนให้มาลงทุนเพิ่ม นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือกับนายก รัฐมนตรีกัมพูชา ประธานาธิบดีเวียดนาม และประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โอกาสนี้อินโดนีเซียสั่งซื้อข้าวไทยลอตใหญ่ถึง 2 ล้านตัน ที่จะมีการซื้อขายในปี 2567

การสั่งข้าวไทยของอินโดนีเซีย เป็นข่าวมาก่อนแล้ว เนื่องจากปีนี้พื้นที่บางส่วนของอินโดนีเซียมีภัยแล้ง จึงปลูกข้าวไม่พอบริโภค ขณะเดียวกันไทยก็มีปัญหาเรื่องข้าว เพราะข้าวหอมมะลิไทยที่เคยชนะการประกวดเป็นข้าวที่ดีที่สุดหลายปี แต่แพ้ข้าวหอมกัมพูชาในปี 2565 ส่วนปี 2566 ข้าวเวียดนามชนะ

แต่ปีนี้ (2566) ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้เข้าประกวด เพราะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการตัดสิน ขณะนี้ข้าวไทยเสียแชมป์ให้อินเดียในฐานะผู้ส่งออกข้าวมากสุดในโลก และเสียแชมป์ข้าวหอมคุณภาพดีที่สุด มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ว่ารัฐบาลก่อนและปัจจุบันไม่ได้สนใจ “การวิจัยและพัฒนาข้าว”

รัฐบาลตั้งงบวิจัยและพัฒนาข้าว เพียงปีละ 200 ล้านบาท ทั้งที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญถึงปีละ 7.9 ล้านตัน นำเงินเข้าประเทศถึง 178,000 ล้านบาท และชาวนาเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่มีปัญหาผลผลิตต่อไร่ตํ่า ผลผลิตข้าวเวียดนามได้ 1,000 กก.ต่อไร่ ข้าวไทยได้ 400 กก. ทำให้ต้นทุนสูงและแพง

...

ที่ผ่านๆมารัฐบาลที่มาจากนักการเมืองมักจะช่วยเหลือชาวนาด้วย “การแจกเงิน” หรือประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าวเจ๊งไปกว่า 9 แสนล้านบาท เพราะซื้อข้าวชาวนา และทุจริตในการขายข้าว รัฐบาลปัจจุบันแจกเงินไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ แต่ไม่สนใจการวิจัยและพัฒนาข้าว.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม