โฆษกรัฐบาลเผย นายกรัฐมนตรี ผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด ลดมลพิษ เสริมสร้างความยั่งยืนทางพลังงานและเศรษฐกิจ รองรับการเพิ่มปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศ
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด ไฟฟ้าสีเขียว เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดมลพิษ ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทย (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น เสริมสร้างเศรษฐกิจแบบซีโร่คาร์บอน (ZERO CARBON)
โฆษกรัฐบาล เผยต่อไปว่า รัฐบาลส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น และดำเนินการผลักดันนโยบายด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยจากเดิมอยู่ที่ 28% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำประเทศไทยมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด 100% (RE100) มากถึง 12,000 เมกะวัตต์ (Megawatt : MW) โดยแผน PDP ฉบับใหม่นี้จะประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2567
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะใช้กลไก Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งเป็นกลไกที่ส่งเสริมการนำพลังงานไฟฟ้าสะอาดไปใช้กับภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 จำนวนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิ์ในใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) มาเป็นองค์ประกอบหลักของกลไกนี้ โดยมีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรองฯ (REC) สามารถตรวจสอบย้อนหลัง (Traceable) ได้ถึงผู้ผลิต แหล่งผลิต สร้างความมั่นใจว่าไม่มีการปล่อยคาร์บอน 100% โดยที่ภาคอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว และได้ใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บรรลุเป้าหมายและสอดคล้องกับนโยบายพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน ซึ่งในอนาคตจะมีปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น
...
ในช่วงท้าย โฆษกรัฐบาล ระบุว่า “รัฐบาลมุ่งสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด ซึ่งนอกจากจะเป็นพลังงานที่ยั่งยืน แทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ยังมีต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาวที่ต่ำอีกด้วย โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการเจรจากับบริษัทต่างๆ พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงศักยภาพด้านการผลิตของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่ประเทศไทยมีระบบพลังงานไฟฟ้าที่เสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะช่วยดึงดูด การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากมีความยั่งยืนทางพลังงานสูง ซึ่งจำเป็นและสอดคล้องกับการทำงานของบริษัทชั้นนำ เช่น กลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตรถ EV โรงงานผลิตไมโครชิป รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่นที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตามเป้าหมาย เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากที่สุด”