“เศรษฐา” ย้ำ ไทย-ญี่ปุ่น ใจถึงใจ เชื่อมั่นความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเครื่องยืนยันความร่วมมือในอนาคต พร้อมให้คะแนนความสำเร็จเกือบเต็มจากการพูดคุยเอกชน เผย ก.พ. 67 นายกฯ กัมพูชา เตรียมหารือความร่วมมือเศรษฐกิจ-การค้าชายแดน 

วันนี้ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น วันที่ 4 ว่า พอใจมากกับผลของการเดินทางครั้งนี้ โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีย้ำ ไทย-ญี่ปุ่น หุ้นส่วนใจถึงใจ Heart to Heart ทุกคนพูดคุยกันด้วยรอยยิ้ม ความเข้าใจ ล้วนมีปรารถนาที่ดีต่อกัน การเดินทางครั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้คะแนนความสำเร็จจากการพูดคุยกับเอกชน 8-9 จากเต็ม 10 คะแนน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จของการเดินทางครั้งนี้ด้วยว่า ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากกว่า 60 ปี ด้วยจำนวนเงินรวมหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การเดินทางครั้งนี้ได้พบกับนักธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย ซึ่งผู้นำบริษัทเหล่านี้ล้วนเคยประจำที่ไทย โดยผู้ที่เคยประจำอยู่ที่ประเทศไทย และมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กรจะมีความลำเอียงตามธรรมชาติ มีความชอบในประเทศไทย ในส่วนของการลงทุน สิ่งที่บริษัทมีความต้องการและรัฐบาลสามารถให้ได้ในสิ่งที่เป็นพื้นฐาน ก็จะทำให้เกิดความสบายใจที่จะร่วมธุรกิจกัน อาทิ supply chain ความมั่นคงทางการเมือง พลังงานสีเขียว วัตถุดิบ ความตกลงทางการค้า และอีกส่วนคือชีวิตความเป็นอยู่ของการดำรงชีวิตในประเทศไทย เมื่อคนญี่ปุ่นมาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีค่าครองชีพเหมาะสม มีโรงเรียนที่ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี มีชีวิตที่ดีในประเทศไทย ทำให้ชื่นชอบการมาดำรงชีวิตในไทย

...

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น ไม่เคยมีปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้พบกับนายกรัฐมนตรีไทยระหว่างการประชุมเอเปกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยขอให้ไทยช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องวีซ่า (Visa) ให้นักธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยก็จัดการให้อย่างดี ขณะที่ประเด็นของแลนด์บริดจ์ (Landbridge) นายเศรษฐา ได้พูดคุยเชิญชวนให้นักลงทุนมาร่วมทุนกับไทยในการทำโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ เกิดเป็นตัวเงินหมุนเวียน การจ้างงานต่อประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจ ให้ความสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะพูดคุยกับคนในพื้นที่ และเป็นโครงการที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วย

“ภาพรวมการเดินทางครั้งนี้ และการพูดคุยกับนักธุรกิจ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นให้คะแนน 8-9 เต็ม 10 เรียกว่าพูดคุยกับทุกบริษัทด้วยความสบายใจ อะไรทำได้เราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้บริษัท ส่วนอะไรที่ไม่ได้ก็พร้อมจะให้ทางเลือก ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ ที่ร่วมทำงานกันมาอย่างดี”

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่ามีอะไรที่อยากนำไปปรับปรุงในประเทศไทยบ้าง นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ครั้งนี้มาพูดคุยเพื่อเสนอให้ญี่ปุ่นมีลงทุนในไทยมากขึ้น ให้เพิ่มการลงทุน เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องของ Soft Power Packaging นำสินค้ามาเพิ่มราคาได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งในวันนี้ได้พบกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกครั้ง และได้พูดคุยว่า จ.สระแก้ว มีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากกัมพูชาจะสามารถยกระดับขึ้นได้อีก ทำให้เกิดความตกลงว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางมากรุงเทพฯ จากนั้นจะมีการประชุมย่อยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจร่วมกันเกี่ยวกับการค้าชายแดน เพราะเรามีความพร้อมเรื่องการจัดส่งสินค้า

หากกัมพูชามีแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วติดต่อการค้า เขามาก็จะดีกับทั้งภูมิภาค เพราะประเทศไทยมีท่าเรือน้ำลึกและสนามบินที่พร้อม มีพลังงานสะอาดที่พร้อม น่าจะทำอะไรร่วมกันได้ เพื่อเสริมสร้างซึ่งกันและกัน และอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเป็นเบอร์ 3 ของโลก การที่เรารวมตัวกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะเอื้อต่อธุรกิจได้อีกเยอะมาก และยิ่งตนกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชามีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จะพูดอะไรก็ง่าย

นอกจากนี้ในการพูดคุยกับบริษัท Panasonic ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ก็มีการพูดคุยกันเรื่องการทำแบตเตอรี่ ซึ่งพานาโซนิคเป็นผู้ทำแบตเตอรี่ให้เทสลา (Tesla) โดยบริษัทพานาโซนิคกำลังพิจารณาสร้างโรงงานใหม่ มีความต้องการพื้นที่ทำโรงงาน 600 ไร่ และเห็นไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้พานาโซนิคลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 1961 แล้ว มีความผูกพันกับประเทศไทยอย่างมาก โดยเบอร์สองของบริษัทเคยประจำการอยู่ที่ประเทศไทยมาตลอด ยิ่งตอกย้ำว่าผู้บริหารบริษัทระดับสูงของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เคยผ่านงานที่ประเทศไทยมาก่อน

ทั้งนี้ เรื่องใจถึงใจเรื่องที่เขาอาจจะลำเอียง อยากมาลงทุน ตนเชื่อว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครดิตของคนไทยที่ต้อนรับอาคันตุกะทุกอาชีพด้วยใจจริง และงานที่เราทำมาทั้งหมดในการเดินทางมาครั้งนี้ไม่ใช่ผลงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่บีโอไอญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ตนมาต่อเครื่องที่ประเทศญี่ปุ่น บีโอไอที่ญี่ปุ่นเป็นคนจุดประกายว่าญี่ปุ่นมีความเป็นห่วงเรื่องอะไร ตนรับโจทย์ไปและจัดการในทุกเรื่อง ซึ่งเรามาถึงที่นี่ก็ง่ายเพียงแค่ยิ้มแย้มแจ่มใสและพยักหน้า ตนถือว่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จมาก.