วันนี้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน กลับมานั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เหมือนเดิมแล้ว หลังออกไปสวมบท “เซลส์แมนไทยแลนด์” เดินสายโรดโชว์ในเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ไปขายความพร้อมด้านการค้าการลงทุนของไทย ให้บรรดานักลงทุนญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่ก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะเข้ามาลงทุนในไทยกันหลายสิบปีแล้ว บางรายก็เกินครึ่งศตวรรษไปแล้ว

การเดินสายของนายกฯเศรษฐา เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ให้กลุ่มผู้ลงทุนกว่า 500 ราย เข้ามาลงทุนในไทย แน่นอนว่าหนีไม่พ้นการชูอภิมหาโปรเจกต์เรือธงของรัฐบาลชุดนี้ คือ แลนด์บริดจ์ (Landbridge) ต่อด้วยการพบปะพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้ง นิสสัน, มิตซูบิชิ, ซูซูกิ, อีซูซุ, มาสด้า, ฮอนด้า และโตโยต้า หารือการขยายการลงทุน โดยเฉพาะภาครถยนต์อีวีที่เป็นกระแสโลกในขณะนี้ รวมไปถึงการเจรจากับผู้บริหาร บริษัท Mitsui & Co.,Ltd. บริษัท Trading รายใหญ่ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น ถึงโอกาสความร่วมมือทาง ธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายลดคาร์บอน Decarbonisation เชิญชวนให้ Mitsui เข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคในไทย

ได้พบปะหารือกับ นายโนริฮิโกะ อิชิกุโระ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร (Japan External Trade Organization : JETRO) หวังเพิ่มลู่ทางการลงทุนในไทยมากขึ้น และถือโอกาสจับเข่าคุยกับผู้บริหาร บริษัท Kubota บริษัทผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรอันดับ 1 ในญี่ปุ่น และอันดับ 3 ของโลก ที่นอกจากจะทำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม ยังมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ปิโตรเลียมสำหรับใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือนำเทคโนโลยีที่บริษัทคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญมาเพิ่มผลผลิต เพิ่มศักยภาพการผลิต ลดการใช้แรงงานและค่าใช้จ่าย ฝันไปไกลว่าจะยกระดับรายได้พี่น้องเกษตรกรสูงถึง 3 เท่า

...

ก็อย่างที่นายกฯเศรษฐา เน้นย้ำในถ้อยแถลงถึงความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ “Heart-to-heart partnership” กับทางญี่ปุ่น สายสัมพันธ์ของ 2 ชาติหยั่งรากลึกกันมายาวนาน พร้อมตบท้ายว่ารัฐบาลไทยตระหนักถึงศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ SoftPower ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่กำลังเติบโต ทั้ง การออกแบบ แฟชั่น อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง เกม และการสร้างเนื้อหาดิจิทัล ที่พร้อมจะร่วมมือกับญี่ปุ่นและอาเซียน เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

เวลาคุณเศรษฐาออกไปเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศ ในเวทีเจรจาการค้าต่างๆ ดูเฉิดฉายเป็นธรรมชาติ ดูเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องฝืน ต้องเฝือเหมือนตอนอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะปมประเด็นการเมืองที่มีหลากหลายปัญหา หลายเรื่องราวให้ต้องคอยแก้ไข

มาถึงวันนี้ คุณเศรษฐาคงรู้ซึ้งแล้วว่า มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ด้วยปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ช่วงเวลากว่า 100 วันที่ขึ้นมาบริหารประเทศ ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย หลังจากจบการประชุม ครม. ในวันนี้คุณเศรษฐาก็ขอลาพักผ่อน 4 วัน ระหว่าง 19-22 ธ.ค. ให้เวลา กับครอบครัว ก่อนจะกลับมาลุยกันใหม่ เพราะนับจากนี้ยังมีวาระร้อนๆรอท่านอยู่ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จ่อจะเข้าสภาหลังปีใหม่ ถือเป็นศึกใหญ่ของรัฐบาล น้องๆวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ดูจากโจทย์ที่พรรคก้าวไกลตั้งไว้เป็นเครื่องหมายคำถามเอาไว้ไปรอชำแหละกันในสภาแล้ว นี่ถือเป็นด่านแรกที่จะวัดศักยภาพว่าคุณเศรษฐาจะดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้นำไปได้อีกแค่ไหน และอีก วาระร้อนที่จะตามมา คือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ยังมีภาคประชาสังคมที่จับจ้องตาไม่กะพริบเช่นกัน รัฐบาลต้องโดนทั้งศึกในศึกนอก ซึ่งจะเป็นด่านสำคัญชี้ชะตาได้เลยว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไป นี่ยังไม่รวมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อีกนะ...

เพลิงสุริยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม