“ภูมิธรรม” ปาฐกถาพิเศษ แนวทางขยายความร่วมมือไทย-จีน ชู ทีมไทยแลนด์หนุนเอกชนเป็นทัพหน้า ทำการค้าเชิงรุก บุกจีนรายมณฑล สร้างเงินเข้าประเทศ ชี้ ทำธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก เริ่มก่อนได้เปรียบ

วันที่ 17 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบประกาศนียบัตรและกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน” ในพิธีสำเร็จการศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อรุกตลาดจีน รุ่นที่ 1 China Wealth Institute ที่ห้องประชุม ชั้น 3 True Digital Park ช่วงค่ำวานนี้ (16 ธันวาคม 2566)

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ประเทศจีนเป็นหนึ่งในเป้าหมายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งตลาดเอเชียเป็นตลาดศักยภาพที่มีขนาดใหญ่มาก มีประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งโลก และไทย-จีนไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน ตนรู้สึกอย่างนั้น ในปี 2565 การค้าระหว่างประเทศไทยกับจีน มีมูลค่าถึง 3.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.53 เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นสัดส่วนร้อยละ 17.86 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย 

ทั้งนี้ ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกสินค้าไปยังจีนให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 หรือคิดเป็น 1.2 ล้านล้านบาท ตนให้นโยบายกับกระทรวงพาณิชย์ ขยับตัวเลขการส่งออกเปลี่ยนจากลบเป็นบวก พร้อมย้ำว่าให้ความสำคัญกับการส่งเสริม เร่งกระชับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนในหลายมิติ ให้ภาคเอกชนบุกตลาดจีน รัฐบาลพร้อมเป็นรัฐที่สนับสนุนเอกชน ไม่เป็นรัฐอุปสรรค กฎระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ รวมทั้งสร้างความทะเยอทะยานและคาดหวังในการบุกฝ่าอุปสรรคทางเศรษฐกิจ

...

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ตนได้พบกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน บอกว่า วันนี้จีนไม่คิดว่าตนเองเป็นโรงงานของโลก แต่จะวางตัวเป็นตลาดของโลก โอกาสจะเกิดขึ้นกับทุกชาติในโลก ซึ่งตนเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนในหลายมิติ ให้นโยบายยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุกรายมณฑล และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญของจีน ทั้ง China-ASEAN EXPO (CAEXPO) และ China International Import Expo (CIIE) ซึ่งตนขอเป็นสะพานสนับสนุนการเชื่อมโยงการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการไทยและจีน 

โดยกระทรวงพาณิชย์จะขับเคลื่อนการค้าการลงทุนของไทย ผ่านความตกลงทางการค้าในทุกระดับ ทั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมทั้งสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าสู่มณฑลหรือเมืองรองที่มีศักยภาพของจีน ผ่านการจัดทำ MOU ทางการค้าอีก 6 ฉบับ กับเมืองเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานซี มณฑลเฮย์หลงเจียง และมณฑลเหอเป่ย เพิ่มเติมจาก 4 ฉบับที่ได้ดำเนินการไปแล้ว กับมณฑลไห่หนาน มณฑลกานซู่ มณฑลยูนนาน และเมืองเซินเจิ้น ตลอดจนเร่งเชื่อมโยงการเข้าเป็นส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีน ซึ่งสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ของไทย

พร้อมกันนี้ จะผลักดันสินค้าและบริการไทยทั้งแบบออฟไลน์-ออนไลน์ และจะร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยมุ่งเป้ารุกตลาดจีน ด้านอาหาร ผ่านร้านอาหารไทย Thai SELECT ซึ่งเป็นช่องทางจัดแสดงและสร้างการรับรู้ความเป็นไทย และตนได้จัดทีมพาณิชย์ ตั้งคณะอนุกรรมการเร่งขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เช่น คณะอนุกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน อาเซียน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า คณะอนุกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Big Data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์ มีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในจีน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ เฉิงตู คุนหมิง หนานหนิง กวางโจว เซี่ยเหมิน เซี่ยงไฮ้ ชิงต่าว ฮ่องกง และไต้หวัน รวมทั้งสำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเศรษฐกิจ นโยบายรัฐ ทั้งการค้าการลงทุน กฎระเบียบการนำเข้า มาตรการที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภค ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียว

ขณะเดียวกัน นายภูมิธรรม ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ได้ให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั้ง 9 แห่ง ผนึกกำลังกับพาณิชย์จังหวัด ทำงานเชิงรุกและบูรณาการให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าจากท้องถิ่นไทยสู่ตลาดจีน เป็นทัพหน้าของกระทรวงพาณิชย์ในต่างแดน ทำงานกับเอกอัครราชทูตไทย และตัวแทนสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ ผลักดันการค้าและขยายการลงทุน ตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของนายกรัฐมนตรี

“การทำธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก ถ้าไม่เปลี่ยน วันหนึ่งต้องถูกบังคับให้เปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนก่อนจะได้เปรียบ ผมเชื่อว่าการดำเนินการของรัฐบาลนี้ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การดูแลของผม ตลอดจนการศึกษาตลาดจีนอย่างรอบด้านภายใต้หลักสูตรนี้ จะทำให้ทุกท่านมีความรู้ มีช่องทางในการเข้าไปทำธุรกิจในจีน กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล รวมถึงกระทรวงต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน พร้อมสนับสนุนเอกชนในการบุกทำการค้าในตลาดจีน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในงานมี นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และรองประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการร่วมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อรุกตลาดจีน รุ่นที่ 1 ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทยในจีน เข้าร่วมด้วย โดยหลักสูตร China Wealth เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นติดอาวุธให้กับนักธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ในการเข้าบุกตลาดจีน หรือทำการส่งออก-นำเข้าสินค้าจากจีน บ่มเพาะทักษะการทำธุรกิจกับจีนอย่างรอบด้าน ผ่านนักวิชาการชั้นนำของประเทศ การถ่ายทอดประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจในจีน รวมถึงการเวิร์กช็อป (Workshop) ด้วย.