ของเถื่อนที่คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือหมูเถื่อน ไล่บี้จี้งานจะปิดเกมเร็วให้ได้

ส่งผลถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องถูกเด้ง อย่างไรก็ตามยังมีของเถื่อนอีกอย่างที่เป็นปัญหาสำคัญเช่นกันคือ “บุหรี่เถื่อน” ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษไปตั้งแต่ปี 2565 แต่จนป่านนี้ยังลากคอหัวขบวนใหญ่ไม่ได้ ก็ไม่รู้นายกฯจะสนใจลงมาขันนอตเหมือนกรณีหมูเถื่อนบ้างไหม

ประเมินตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากบุหรี่เถื่อนในปี 2566 มีมูลค่าราว 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งในส่วนของภาษีสรรพสามิต ภาษีบำรุงท้องถิ่น ภาษีอื่นๆ และรายได้ของอุตสาหกรรมยาสูบตลอดห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งบุหรี่เถื่อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมด้านคุณภาพ และอาจมีการปนเปื้อนได้

ตั้งแต่มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในปี 2560 และ 2564 เพราะหวังจะช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลง (ซึ่งจำนวนผู้สูบก็ลดลงจริงๆตามกระแสโลกเทรนด์รักสุขภาพ) ทำให้ราคาบุหรี่ถูกกฎหมายของการยาสูบแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 68% จากซองละ 40 เป็นซองละ 67 บาท และล่าสุดบางยี่ห้อปรับราคาขายขึ้นไปอีกเป็น 70 บาท สิ่งที่ตามมาคือ อัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งบุหรี่หนีภาษี และบุหรี่ปลอม

จากการสำรวจสถานการณ์บุหรี่ผิดกฎหมายเมื่อเดือน มิ.ย.2566 พบว่าในไตรมาส 2 ปี 2566 อัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนในประเทศไทยสูงถึง 22.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 ช่วงก่อนปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ยาสูบ ตอนนั้นมีอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อน 6.6% เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 15.7%

เมื่อการบริโภคบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น การจัดเก็บภาษีบุหรี่ย่อมลดลง ในปีงบประมาณ 2566 จัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ได้เพียง 57,683 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการถึง 11,617 ล้านบาท หรือ 16.8% และเมื่อ เทียบกับการจัดเก็บภาษียาสูบปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเก็บได้ 59,784 ล้านบาท เท่ากับจัดเก็บภาษียาสูบลดลง 2,101 ล้านบาท หรือกว่า 3% อีกทั้ง ตัวเลขจัดเก็บภาษีลดลงทุกปีตั้งแต่ปรับโครงสร้างภาษียาสูบ

...

สำหรับพื้นที่ที่พบอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงสุด 5 จังหวัดล้วนเป็นจังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ สตูล 92% (เท่ากับการบริโภคบุหรี่ 100 ซองในจังหวัด เป็นบุหรี่เถื่อน 92 ซอง) พัทลุง 89% สงขลา 88% นครศรีธรรมราช 78% และภูเก็ต 65% ส่วนพื้นที่อื่นที่การบริโภคบุหรี่เถื่อนขยายตัวสูงมากคือ นนทบุรี 56% กรุงเทพฯ 33% และสมุทรปราการ 28%

ถึงแม้การจับตรวจบุหรี่เถื่อนจะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่บ่อยครั้งที่มีการร้องเรียนจากร้านค้าถูกกฎหมายว่า พบเห็นร้านค้าบุหรี่เถื่อนกลับมาเปิดใหม่หลังจากถูกปิดไปไม่นาน แสดงว่าต้องมีเส้นสายคนมีสี หรือผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง ขนาด คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด กระทรวงมหาดไทย ยังเคยโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2566 ว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองนำหมายศาลบุกค้นโกดัง และร้านขายบุหรี่เถื่อน เหล้าเถื่อน กลางเมืองหาดใหญ่ พบมีรายได้ต่อเดือนเกือบ 10 ล้านบาท และบัญชีส่วยเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน

กระบวนการค้าบุหรี่เถื่อนหยั่งรากฝังลึก ถ้าไม่มีคำสั่งเข้มงวดจากนายกฯให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน โอกาสจะตัดรากถอนโคนสำเร็จคงเป็นไปได้ยาก มีแต่จะทะลักเข้าไทยมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยดูจะมีผลปฏิบัติงานบุกจับบุหรี่เถื่อนได้เป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่าใคร โดยเฉพาะกำลังอาสารักษาดินแดนที่ลงพื้นที่สม่ำเสมอ ส่วนทหารบกทหารเรือตามแนวชายแดน สรรพสามิต ศุลกากร และหน่วยงานท้องถิ่น หากกระฉับกระเฉงตื่นตัวมากขึ้น ก็คงช่วยบรรเทาปัญหาลงได้

การตรวจจับไม่เพียงต้องพุ่งเป้าไปที่ เจ้าใหญ่นายทุนตัวจริง แต่ควรจับ ร้านเล็กรายย่อย ไปพร้อมกันด้วย เพราะเจ้าใหญ่ทุนหนามีเส้นสาย ถูกจับไม่นานก็ลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนมาขายอีก แต่ร้านเล็กพอ ถูกจับแล้วมักไม่กล้ากลับมาเปิดขายอีก เมื่อขาดร้านเล็กซึ่งเปรียบเหมือนแขนขาเครือข่าย หัวเรือใหญ่ก็ไม่มีที่ระบายของ

ปราบหมูเถื่อนไม่ใช่เรื่องหมูๆ ปราบบุหรี่เถื่อนก็ไม่หมูเช่นกัน ผมหวังว่านายกฯจะเห็นความสำคัญลงมาไล่บี้กวาดล้างให้สิ้นซาก.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม