“ซอฟต์พาวเวอร์” กลายเป็นประเด็นยอดนิยมของการเมืองไทยในโอกาสที่ไปเปิดงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคาร น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า นิยามของซอฟต์พาวเวอร์สำคัญน้อยที่สุด

สิ่งที่สำคัญคือซอฟต์พาวเวอร์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทุกระยะ ตั้งแต่ต้นนํ้าคือพัฒนาคน กลางนํ้าคือการปลดล็อกกฎหมายที่ล้าสมัยและมีข้อจำกัดการส่งเสริมอุตสาหกรรม และปลายนํ้าคือนโยบายต่างประเทศ สร้างแบรนดิ้งให้ประเทศไทย ยกตัวอย่างการปักหมุดสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลระดับโลก ตลอดเดือนเมษายน

รองประธานซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ บอกว่า บางพื้นที่เริ่มเล่นสงกรานต์ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่วันที่ 13 ถึง 15 แต่เข้ามาเจอสงกรานต์ได้ทั้งเดือน อาจไม่ทราบว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ยุคที่สังคมไทยส่วนใหญ่เป็นชาวนา และทำนาแค่ปีละครั้ง

เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จในหน้าแล้ง ชาวนาส่วนใหญ่ว่างงาน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน จึงไม่น่าแปลกใจทำไมกลุ่มคนเสื้อแดงของพรรคเพื่อไทยจึงสามารถระดมชาวอีสาน เข้ามาชุมนุมการเมืองใน กทม. ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เพราะคนส่วนใหญ่ว่างงาน การมาชุมนุมที่ กทม. คือ “การทำงาน”

ส่วนซอฟต์พาวเวอร์ที่ผู้เชี่ยวชาญให้นิยามว่า “ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมทางความคิดของสังคมและประชาชน โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐานคือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ” ฟังดูคล้ายกับโลกยุค “สงครามเย็น” ที่ต่อสู้กันระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์

...

โลกเสรีมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ส่วนคอมมิวนิสต์มีโซเวียต รัสเซียเป็นผู้นำ โลกเสรีสู้ด้วยวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย และเศรษฐกิจนิยม ฝ่ายคอมมิวนิสต์สู้ด้วยการเมือง ในระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ และเศรษฐกิจสังคมนิยม สงครามเย็นดำเนินอยู่หลายทศวรรษ ยุติลงด้วยการล่มสลายของโซเวียต

ส่วนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยยุคใหม่มีเรื่องที่น่าเลื่อมใสหลายประการ เช่น “ปลดล็อกกฎหมายล้าสมัย” น่าสงสัยว่าการที่กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบให้เพื่อคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ มีเสียงวิจารณ์ว่า “เพื่อรองรับใคร” หรือแก้ปัญหานักโทษล้นคุก แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ปฏิเสธไม่รู้เรื่อง รวมทั้งรัฐมนตรียุติธรรม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม