นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ไม่ใช่สไตล์หลิวลู่ลม

ถ้าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องใด “เศรษฐา” จะสั่งเบรกทันที!!

นี่คือเหตุผลที่ รมว.แรงงานยอมถอยข้อเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามมติเห็นชอบของคณะกรรมการไตรภาคี กลับไปทบทวนใหม่

เพราะนายกฯ เศรษฐาเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เสนอมายังต่ำเกินไป

ก่อนหน้านี้ รมว.พลังงานก็ยอมถอยข้อเสนอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกลับไปทบทวนใหม่

เพราะนายกฯ เศรษฐาเห็นว่าการขึ้นค่าไฟฟ้าจากยูนิตละ 3.99 บาท เป็นยูนิตละ 4.68 บาท สูงเว่อร์เกินควร

“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าสุดท้ายอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปีหน้าจะปรับขึ้นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 บาทต่อวัน

ถ้าปรับน้อยกว่านี้...ก็เสียรังวัดรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ส่วนการขึ้นค่าไฟฟ้าอัตราใหม่จะมีผลตั้งแต่ต้นปีหน้าเช่นกัน “แม่ลูกจันทร์” มั่นใจว่าสุดท้ายอัตราค่าไฟฟ้าจะไม่ขึ้นพรวดพราดถึงยูนิตละ 4.68 บาทอย่างแน่นอน

ล่าสุด นายกฯเศรษฐาออกมาใบ้หวยว่าอัตราค่าไฟงวดใหม่ (ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นจากยูนิตละ 3.99 บาท เป็นยูนิตละ 4.10 บาท

หรือขึ้นไปจิ๊บๆเพียงยูนิตละ 11 สตางค์

ถือว่าเป็นการขึ้นค่าไฟฟ้าที่ไม่โหดร้ายต่อกระเป๋าประชาชนจนเกินควร

“แม่ลูกจันทร์” สรุปว่า การสั่งเบรกค่าไฟฟ้าของ “นายกฯ เศรษฐา” ทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟน้อยกว่าข้อเสนอเดิมยูนิตละ 58 สตางค์

และเพื่อไม่ให้การขึ้นค่าไฟฟ้ามีผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 ยูนิตต่อเดือน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน จะเสนอให้ตรึงค่าไฟฟ้ายูนิตละ 3.99 บาทเท่าเดิม

...

ดังนั้น ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 ยูนิตต่อเดือน จำนวน 17 ล้านราย หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ

ยังจ่ายค่าไฟยูนิตละ 3.99 บาทต่อไป ตามนโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาล

โดยรัฐบาลจะใช้งบกลาง 2,000 ล้านบาท ไปอุ้มส่วนต่างค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง 17 ล้านราย ไปอีก 3 เดือน

นายกฯ เศรษฐา มองว่าการควบคุมค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไปคือ “กุญแจสำคัญ” ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย

ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยยังได้เปรียบประเทศอื่นๆ

เพราะเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าพอเพียงในระยะยาว

เหนือกว่าเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ

ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยจึงไม่มีปัญหาไฟตก ไฟดับ ไฟขาด ไฟกระตุกอย่างที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

สรุปว่าการที่ค่าไฟฟ้าไม่แพงและพอเพียงจึงเป็น “จุดขาย” และ “จุดแข็ง” ของประเทศไทย

แต่มองอีกมุม การที่ประเทศไทย มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินก็เป็น “จุดอ่อน” ทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงเกินควรเช่นกัน

สรุป ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่แพง...ต้องมองหลายมุมนะคุณโยม.

“แม่ลูกจันทร์”

คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม