มท.1 นำประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ สั่งการผู้ว่าฯทุกจังหวัดบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมดำเนินมาตรการเชิงรุกเพิ่มความเข้มงวดทุกตารางนิ้ว "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 66 ทีห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ (Webex) ไปยังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดทุกจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

โดย นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องของอุบัติเหตุทางถนน ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นเหตุสุดวิสัย และส่วนที่ป้องกันได้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่ได้มีการกล่าวถึงความเป็นมาในทางถนนและการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ ก็จำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน วันนี้จึงขอเชิญทุกท่านร่วมประชุม เพื่อรับทราบสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย กับค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565-2570 ซึ่งเป็นแผนหลักในการบูรณาการการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และขอให้ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2567 รวมถึงข้อเสนอในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ของผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบาย

...

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การลดอัตราการบาดเจ็บลงให้เหลือน้อยที่สุด และแน่นอนว่าถ้าหากเราสามารถทำให้ตัวเลขการสูญเสียต่ำกว่าเป้าหมายนี้ได้ยิ่งดี ซึ่งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่ตนเคยได้ร่วมทำงานติดตามกับคณะกรรมการนโยบายการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ทำให้ทราบว่าอัตราอุบัติเหตุจะมีการผันแปรไปกับการสัญจร หากมีการเดินทางมากขึ้นจะมีอัตราอุบัติเหตุสูงขึ้น ซึ่งอุบัติเหตุเกิดได้ทุกพื้นที่ทุกเวลา และส่วนใหญ่มาจากการดื่มแล้วขับ ดังนั้นหากประชาชนที่จะดื่มก็ต้องมีการวางแผน และหากเจ้าหน้าที่ทุกคนเข้มงวดกวดขันก็จะช่วยลดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับได้ เช่น การควบคุมการจำหน่ายสุราของมึนเมาให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ขอให้ทุกท่านช่วยกันหาแนวทางแก้ไขบูรณาการร่วมกัน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการป้องกัน และลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้

"จากข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรคจะเห็นได้ว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่มีต้นเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ทุกท่านก็คงทราบกันดีว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังยกระดับเพิ่มความเข้มงวดกวดขัน ทั้งเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในสถานบริการ ซึ่งตนได้ลงพื้นที่ไปตรวจตราด้วยตนเอง ซึ่งยังคงพบว่าที่สถานบริการมีความเสี่ยงในการกระทำความผิดจำนวนมาก ทั้งการใช้สารเสพติด การลักลอบอนุญาติให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ ดังนั้นจึงฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องหามาตรการที่เข้มงวดกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทำความผิดขัดต่อกฎหมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแสดงตัวตนด้วยบัตรประชาชน ท่านต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้ชัดเจน หากเราควบคุมสารตั้งต้นได้ก็จะช่วยทำให้เราบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ใช่ตัวเลขที่ลดลง แต่เป็นมาตรการที่เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชน หากเราทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ อุบัติเหตุก็จะลดลงตามไปด้วย จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปรับตั้งตัวชี้วัดและเป้าหมายให้เหมาะสม เพื่อใช้ในการติดตามสถาณการณ์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ "ดื่มไม่ขับ" ทั้งการขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ทุกแห่ง เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักให้กับพี่น้องประชาชน และยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้เกิดความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่าน ได้รับผิดชอบอยู่ในพื้นที่ของท่านอย่างเต็มเวลา เพื่อจะได้ต้อนรับและดูแลนักท่องเที่ยวและประชาชนในช่วงปีใหม่ได้อย่างเต็มความสามารถ พร้อมดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดอุบัติภัยได้มากที่สุด และที่ตนได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดได้บูรณาการร่วมกับตำรวจในการขับเคลื่อนปราบปรามป้องกันการกระทำผิดอย่างจริงจัง เราก็จะสามารรถบรรลุเป้าหมายได้" นายอนุทิน กล่าว 

นายอนุทิน กล่าวเน้นย้ำอีกว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ครั้งนี้ จึงได้มีข้อสั่งการในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

1) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565-2570 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 และบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ "ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง" เกิดการสัญจรทางถนนที่ปลอดภัย ให้คนไทยห่างไกลอุบัติเหตุ "เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" พร้อมทั้งเร่งระบายการจราจรให้ประชาชนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคน

2) ในระดับพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 ขอให้บูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม ทุกประเภทยวดยานพาหนะ และทุกช่วงวัย รวมถึงนักท่องเที่ยว

3) ให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างความตระหนัก จิตสำนึก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

4) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกรอบแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 อย่างเข้มข้น โดยเน้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการสัญจรให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชน

ด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย กับค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2565-2570 เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานทุกภาคส่วนในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้มีการกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัดระดับผลลัพธ์ภายในปี พ.ศ.2570 ประกอบด้วย 1) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือ 8,474 คน หรือ 12 คนต่อแสนประชากร 2) ลดจำนวนผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนน เหลือ 106,376 คน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะสำนักงานเลขานุการฯ ได้แจ้งค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับผลลัพธ์ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ได้รับทราบและไปบูรณาการการดำเนินการในระดับพื้นที่แล้ว

"ในส่วนของแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ.2567 ที่ประชุมได้เห็นชอบในการใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด โดยมีข้อสรุปสาระสำคัญ คือ การรณรงค์จะรณรงค์ภายใต้หัวข้อ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" ซึ่งแผนมีวัตถุประสงค์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน ให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคม โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับภาพรวม ระดับหน่วยงาน และระดับพื้นที่ สำหรับการดำเนินการช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 โดยมีมาตรการดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1) ด้านการบริหารจัดการ อาทิ จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลทุกระดับ มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงโดยใช้แนวทางการจัดทำ "ประชาคมชุมชน/หมู่บ้าน" และการจัดกิจกรรมทางศาสนา "1 อำเภอ 1 กิจกรรม" 2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม อาทิ กำหนดให้ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกเส้นทางเป็นถนนปลอดภัย แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางร่วม ทางแยก 3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ อาทิ กำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ ให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด 4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย อาทิ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมาย และ 5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ อาทิ จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน" นายไชยวัฒน์ กล่าว

แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ ผู้แทนกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย จากข้อมูลจำนวนและอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนน เดือน ม.ค.-ก.ย.2566 เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีรายงานผู้เสียชีวิตทางถนน จำนวน 12,730 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.54 ต่อประชากรแสนคน หากเปรียบเทียบเป้าหมายกับมีอัตราเสียเสียชีวิตในระยะเวลา 9 เดือน คิดเป็นร้อยละ 94.44 ของค่าเป้าหมายปี 2566 หากเปรียบเทียบปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตลดลง 80 ราย หากวิเคราะห์ข้อมูลรายจังหวัดพบว่า มี 24 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตเกินกว่าเป้าหมายทั้งปีไปแล้ว ในส่วนของข้อมูลผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขั บจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561-2565 ยังคงมีอัตราส่วนคงที่ อยู่ในช่วงร้อยละ 20.84-22.28 โดยวิเคราะห์ตามช่วงเวลาที่เกิดเหตุ พบว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ 0.00-23.00 น. และ 18.00-23.00 น. มีผู้บาดเจ็บจากการดื่มแล้วขับ รวมคิดเป็นร้อยละ 71 ของทั้งหมด ซึ่งอัตราพื้นที่ดื่มขับจำแนกรายจังหวัด ปี 2566 โดยมีจำนวน 10 จังหวัด ที่มีสัดส่วนดื่มขับมากที่สุด คือ จ.นครพนม จ.น่าน จ.เชียงราย จ.อุบลราชารนี จ.แพร่ จ.จันทบุรี จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.เชียงใหม่ และ จ.มุกดาหาร ในส่วนของอัตราการสวมหมวกนิรภัยและอัตราการบาดเจ็บศีรษะในกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ ปี 2560-2566 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ คำนวนจากผู้บาดเจ็บและเข้ารับการรักษา โดยผู้บาดเจ็บและเข้ารับการรักษาที่สวมหมวกนิรภัย คิดเป็นร้อยละ 15.94-18.1 เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สวมหมวกมีอัตราบาดเจ็บ คิดเป็นร้อยละ 45 จากทั้งหมด