“เกียรติ สิทธีอมร” ระบุ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของไทย เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี ไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองจะเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง และกระทรวงแรงงาน

วันที่ 13 ธ.ค. 2566 นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต สส. ประชาธิปัตย์ แสดงความเห็น ต่อกรณีการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยได้โพสต์ที่เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองบางพรรค ประกาศนโยบายแรงงานว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันบ้าง และ 600 บาทต่อวันบ้าง ซึ่งสร้างความสับสนและความกังวลให้กับหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ 

วันนี้จึงอยากทำความเข้าใจกันก่อนว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยนั้น เป็นบทบาทของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยตัวแทนจาก ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

คณะกรรมการไตรภาคีเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 โดยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ระบุในสนธิสัญญากับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีหรือคู่สัญญาร่วมกับนานาประเทศ โดยมีหลักคิดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำว่า “ไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรรัฐที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือกระทรวงแรงงาน”

การที่ข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้พรรคการเมืองมายุ่งเกี่ยวในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีหลายประเทศที่เคยประสบวิกฤติรุนแรงเพราะการเมืองชี้นำค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว จากบทเรียนที่เจ็บปวดนี้เอง ทำให้กฎหมายกำหนดให้ใช้กลไกไตรภาคีเท่านั้น 


โดยขั้นตอนในการดำเนินการของกฎหมายนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบของ ครม. เพราะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องดูว่ากลไกไตรภาคีทำงานได้ผลลัพธ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย “ไม่ใช่ชี้นำ”  มีการทบทวนได้ “เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม” ซึ่งรัฐบาลต้องไม่ให้การดำเนินการขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ และกฎหมายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าเห็นว่าการพิจารณา ขาดตกบกพร่อง ก็สามารถทบทวนใหม่ได้ แต่ “การแทรกแซงชี้นำค่าแรงขั้นต่ำจากฝ่ายการเมืองนั้นทำไม่ได้”…!!!!

...

ที่จริงแล้ว กกต. ควรมีท่าทีหรือข้อสังเกต หรือทักท้วง ตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้ว แต่กลับนิ่งเฉย ทั้งที่ชัดเจนว่า เป็นการนำเสนอของพรรคการเมืองที่น่าจะขัดกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ต้องถามดังๆ ว่า กกต. ทำผิด ม.157 หรือเปล่า แล้ว ป.ป.ช. จะว่ายังไงในเรื่องนี้ 

ผมอยากเห็น ภาคแรงงานได้รับความเป็นธรรม ได้รับค่าแรงที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือ จึงต้องนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง ด้วยความปรารถนาดีนะครับ…!!!!!