“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน ยืนยัน 12 ธ.ค.นี้ นำมติบอร์ดค่าจ้างเข้าที่ประชุม ครม. เผย หากถูกตีกลับเล็งปรึกษา คกก.กฤษฎีกา ขอแก้เงื่อนไขที่ไอแอลโอกำหนด หากทำได้จะทำให้อัตราค่าจ้างของประเทศสูงขึ้น
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ถึงการทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ได้คุยกับ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการนำมติบอร์ดค่าจ้างเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 หาก ครม.ตีกลับให้ไปทบทวน ถึงจะหารือกับบอร์ดค่าจ้าง แต่หาก ครม.ไม่ตีกลับ บอร์ดจะไปทบทวนเองก็คงทำไม่ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยต่อไปว่า หาก ครม.ให้กลับมาทบทวนค่าจ้างใหม่ จะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าสามารถทบทวนได้หรือไม่ และจะเปลี่ยนเงื่อนไขบางข้อในการนำมาคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศได้แค่ไหน เพราะในปี 2563-2564 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ยังถูกนำเอามาเป็นเกณฑ์ในการคิดค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 5 ปี ซึ่งทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ เป็นผู้กำหนด คือ 1. อัตราเงินเฟ้อ 2. อัตราค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ในรอบ 5 ปี และ 3. อัตราค่าครองชีพ ซึ่งไทยเป็นสมาชิกของไอแอลโอ จึงต้องปฏิบัติตาม หากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขในบางข้อได้ โดยไม่ต้องเอาปี 2563-2564 มาหาค่าเฉลี่ยด้วย ก็จะสามารถดำเนินการต่อได้
“ในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถปรับค่าจ้างในอัตรา 300 ได้ทั่วประเทศ เป็นเพราะในขณะนั้นไอแอลโอยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ข้อนี้ แต่เพิ่งจะมากำหนดในปี 2560 ซึ่งไทยต้องปฏิบัติตาม และการเมืองจะเข้าไปแทรกแซงการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้ แต่หากสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขในการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะทำให้อัตราค่าจ้างของประเทศสูงขึ้นได้”.
...