“สุขภาวะ”...จากการใช้เทคโนโลยีรอบตัวยุคปัจจุบันเป็นเสมือนดาบสองคม หากไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ โดยเฉพาะเด็ก...เยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะกลั่นกรองสิ่งที่รับมาจากสื่อสังคมโลกออนไลน์...“โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ที่อยู่ในสารพัดแพลตฟอร์ม
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ Chairman of the Governing Board, The Newton Group บอกว่า ข้อมูล ณ วันนี้พบว่า “เด็ก” มีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก
ประเทศแถบตะวันตก...ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กทำร้ายตนเองในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการกินยา กรีดมือ หรือทำอันตรายกับตัวเองอื่นๆ...มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 200%
“เด็ก” ต้องเข้าโรงพยาบาลจิตเวชมากขึ้น...เด็กเรียนหนังสือแย่ลง สังคมแย่ลง สุขภาพแย่ลง...สุขภาพกายแย่ลงอาจจะยังไม่ชัด แต่ที่มีข้อมูลชัดเจนคือด้านจิตใจที่เป็นปัญหาข้างต้น
...
พุ่งเป้าไปที่ “เด็กกับสมาร์ทโฟน” น่าสนใจว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเด็กเล็กอยู่กับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากขึ้น ที่ควรจะเป็นควรอยู่ที่ระดับชั้น ม.3 แต่ให้ก่อนหน้านั้นได้คือ “มือถือ” ควรจะเป็นแบบใช้ปุ่มกดรุ่นเก่า ใช้สื่อสารระหว่างพ่อแม่ได้อย่างเดียวเท่านั้น
เด็กจะเติบโตมีพัฒนาการที่ดีจะต้องเติบโตกับพ่อแม่ โตกับคนเลี้ยงดูที่ไว้ใจได้ เป็นการเติบโตที่ต้องเล่น เพิ่มทักษะ พัฒนาการ ปัญหาสำคัญมีว่าเมื่อ “เด็ก” อยู่กับ “สมาร์ทโฟน” ก็จะไม่ได้เล่น ไม่ได้โตอย่างที่ควร... จะมีปัญหามาก ประหนึ่งเป็นยาเสพติดชุดใหม่มอมเมาอย่างที่สุด สะท้อนจากสถิติการใช้สมาร์ทโฟนดังนี้...
เด็กทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน 1 ใน 4...ใช้อินเตอร์เน็ต
มากกว่า 50% ของเด็กอายุ 2 ขวบ...ใช้อินเตอร์เน็ตทุกวัน
เด็ก 7 ขวบเกือบทุกคน...ใช้อินเตอร์เน็ตทุกวัน เด็ก 11 ขวบเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง วัยรุ่นใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลา 6-9 ชั่วโมงต่อวัน (วัยรุ่นไทย 7 ชั่วโมงต่อวัน)
เงื่อนปัญหานี้ทำให้ประเทศจีนประกาศออกกฎห้ามเล่นเกมออนไลน์เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และผู้ใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน
ประเด็นสำคัญมีว่า...ไอคิวของเด็กยุคนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีสมาร์ทโฟนแพร่หลายลดลง 6-7 จุด หลังจากที่เริ่มใช้สมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย
คะแนน Pisa ล่าสุดที่สาละวันเตี้ยลง สะท้อนเงื่อนปัญหานี้ชัดเจนในผลที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นรูปธรรม ช่วงเวลาที่อยู่กับสมาร์ทโฟนแน่นอนว่า...เวลานอน เวลาเรียน เวลาทำงาน...ลดลง เวลานั่งเพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวทางกายภาพลดลง เวลาเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น...เวลาอ่านหนังสือลดลง
การเพิ่มขึ้นอย่างมากของปัญหาสุขภาพจิต ด้วยความเครียด ความเหงา ความอิจฉา ความโกรธ...การลดลงของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเพิ่มขึ้นของการทำงานหลายอย่างพร้อมกันบวกกับสิ่งล่อใจในโลกสื่อสังคมออนไลน์ แอปพลิเคชันต่างๆทำให้เกิดความเครียดรูปแบบใหม่
เกม โซเชียลมีเดีย ความบันเทิง...จากสมาร์ทโฟน เพิ่มการเสพติดในเด็ก...ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเด็กสมาธิสั้น “สมองสมาร์ทโฟน...สมองแบบต้องรับรางวัลทันที”
“โซเชียลเน็ตเวิร์ก”...เครือข่ายสังคมออนไลน์มีประโยชน์กับคนที่โตแล้ว คนที่ต้องทำงาน คนที่รู้จักตัวเองดีแล้ว คำแนะนำสำคัญมีว่าควรเริ่มเล่นอายุ 18 ปีขึ้นไปและควรให้สมาร์ทโฟนเด็กช่วงวัยเรียนหลัง ม.4
ต้องยอมรับความจริงที่ว่า “โซเชียลมีเดีย” เป็นที่ที่แสดง สะท้อนความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันที่สำคัญ นายแพทย์ธีระเกียรติ ยกตัวอย่างมีข้อมูลที่พบว่า อินสตาแกรมทำให้เด็กฆ่าตัวตายโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงมากขึ้น เพราะเป็นเวทีของการเปรียบเทียบกันและทำให้อิจฉากัน เฟซบุ๊ก...ก็แนวๆเดียวกันกระตุ้นความอิจฉา
“ทวิตเตอร์...เป็นเวทีของการแสดงความโกรธและเกลียดชังกันมากขึ้น ประเด็นมีว่าเมื่อรู้สึกก็ระบายออกมาทันที ส่วนติ๊กต่อก...ทำให้คนฉลาดน้อยลง ด้วยการนำเสนอจากเอไอ บวกเวลาที่สั้น...ถูกออกแบบ มาให้เร้าอารมณ์ ให้ชอบ ให้สนุก ให้มันส์ทางใดทางหนึ่ง ไร้สาระมากๆ
...จึงไม่ประเทืองปัญญาแม้แต่นิดเดียว ทำให้เด็ก...ตื้นเขินมากขึ้น แล้วก็โง่ลงจริงๆ ไม่ใช่เวทีของการเรียนรู้”
กระนั้นแล้ว “โลกออนไลน์” จึงเป็นเหมือน “ดาบสองคม” ด้านดี... ใช้ประโยชน์ได้ดีก็มี ด้านเสียหากผู้ใช้ไม่รู้จักใช้หรือใช้โดยไม่รู้จักตัวเอง โดยเฉพาะเด็ก...เยาวชนที่ยังขาดวุฒิภาวะ อยู่ในช่วงวัยที่ยังต้องการการปฏิสัมพันธ์จากคนตัวเป็นๆ เกิดการเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
พบอีกว่า...แม้กระทั่งในกลุ่มเด็กถือมือถือเข้าห้องเรียนเอาไว้กับตัวแต่ปิดเสียงเทียบกับเด็กกลุ่มที่เก็บมือถือไว้ในกระเป๋าก็ต่างกันเยอะในการเรียน เวลาสอบกลุ่มหลังสามารถทำคะแนนได้สูงกว่า
“ประเทศอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาบางที่ห้ามมีโทรศัพท์ในโรงเรียน เรียกว่ามาโรงเรียนปุ๊บต้องฝาก เรา (นิวตัน) กำลังจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะทันทีที่มือถืออยู่ใกล้ตัวเวลาพักก็จะหยิบออกมาเล่นหรือบางคนตั้งสั่นไว้ก็ต้องหันมาสนใจคอยระมัดระวัง...เกี่ยวกับความสนใจ”
สิ่งที่ถูกทำลายไปอย่างมากในยุคใหม่ก็คือสมาร์ทโฟนทำให้เราไม่มีสมาธิ ทุกอย่างเข้ามาแล้วก็ต้องตอบสนอง แอปต่างๆมากมายเต็มไปหมด ทำให้ต้องตอบสนองมากมายก็จะถูกแบ่งความสนใจออกไปมากเท่านั้น...สมาธิถูกลดทอนลงไป สิ่งล้ำค่าในยุคดิจิทัลคือ “สมาธิ”...ทำน้อยอย่างแต่ทำให้ลึกซึ้ง
“สมองส่วนหน้าของเด็กไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่จนกว่าจะอายุเกือบ 20 ปี สำคัญคือมีหน้าที่เกี่ยวกับการมีสมาธิจดจ่อ คิดวางแผน แก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น คาดการณ์ ยับยั้งชั่งใจ...ควบคุมตนเองได้”
“สมาร์ทโฟน” ยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำให้เกิด “สมาร์ทคิดส์”...เด็กฉลาด ตรงกันข้ามมันทำลายเด็ก ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าหลายคนจะเห็นต่าง...แต่การแก้ปัญหาจะต้องไม่หักดิบ ไม่ถึงขั้นยกเลิกห้ามไม่ให้เด็กใช้ เพราะสมาร์ทโฟนก็มีประโยชน์ของมัน
คำแนะนำที่สำคัญข้อแรก...อย่ามีปฏิกิริยาสุดโต่งหรือมีปัญหาริบมือถือ สอง...มีปฏิกิริยาถดถอย คือถอยไปสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่อันนี้ก็ไม่ถูกอย่าทำเด็ดขาด ควรจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้น ที่แน่ๆคือเด็กไม่ควรจะใช้ในเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้งหรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ในทางไม่ดีก็เหมือนสะสม...กินผลไม้พิษไปเรื่อยๆ
สำคัญคือ...“เด็ก” ไม่สามารถพัฒนาได้จากคนไม่รู้จักแล้วก็ไม่เห็นตัว เวลามนุษย์ปฏิสัมพันธ์กันเจอหน้ากันคุยกันแม้กระทั่งเวลาสั้นๆก็สื่อสารต่างกัน ยิ่งในโลกออนไลน์ ถึงแม้ว่า “สมาร์ทโฟน”...มีประโยชน์กับเด็กที่เอาไว้ใช้ติดต่อง่ายๆกับพ่อแม่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาร์ทโฟน โทรศัพท์ธรรมดาง่ายๆก็ทำได้
เด็กโตขึ้นมาหน่อย...ใช้ได้แต่ต้องมีการควบคุม จำกัดการเข้าถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสม “มนุษย์” ต้องการความผูกพัน มิตรภาพที่จับต้องได้ ปัญหาสมาร์ทโฟน...สื่อสังคมออนไลน์ในเด็กเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกเรื่องหนึ่ง พ่อแม่...ครอบครัวต้องสังวรในเรื่องนี้ให้มากๆ รัฐบาลต้องเหลียวมามองปัญหานี้ให้กระจ่างชัดทุกมิติ...
ประเมินด้านดีการใช้งานให้เหมาะกับอายุและป้องกันด้านที่ไม่ดี ...ที่สำคัญโรงเรียนสถาบันการศึกษาต้องรับรู้ปัญหานี้ เฝ้าระวัง ป้องกัน ก่อนจะเกิดปัญหาซับซ้อนยากจนเกินแก้ไข.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม