กลายเป็นข่าวร้ายซ้ำซากอีกข่าวหนึ่งสำหรับประเทศไทย นั่นก็คือผลการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ตามมาตรฐานสากล ประจำปี 2565 มีนักเรียนจากนานาชาติ 690,000 คนเข้าร่วม จาก 82 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 มีการทดสอบด้านคณิตศาสตร์ การอ่านและวิทยาศาสตร์

ผลการทดสอบ มี 5 ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับ ด้านคณิตศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ 575 คะแนนตามด้วยมาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกงและญี่ปุ่น ส่วนไทยได้อันดับที่ 58 ได้ 394 คะแนน ผลการทดสอบการอ่าน สิงคโปร์ยังมีคะแนนนำเป็นอันดับที่ 1 543 คะแนนตามด้วยไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนไทเป

ส่วนประเทศไทยมาเป็นอันดับที่ 64 ได้ 379 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ สิงคโปร์ยังเป็นแชมป์เหมือนเดิม ด้วยคะแนน 561 ตามด้วยญี่ปุ่น มาเก๊า จีนไทเป เกาหลีใต้ ส่วนไทยแลนด์ตามมาห่างๆ ที่อันดับ 58 คะแนน 409 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีศึกษาธิการ วิจารณ์ว่า ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว

อธิบายความว่า ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่ได้คะแนนต่ำ เกิดขึ้นกับทุกประเทศ เมื่อเทียบกับการประเมินปี 2561 ทุกประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด นักวิชาการวิจารณ์ว่าในช่วงรัฐบาล คสช. นอกจากรัฐบาลจะไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปการเมืองแล้ว ยังไม่สนใจแม้แต่การศึกษาของประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้มีการเผยแพร่ผลการทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยได้อันดับโหล่ในกลุ่มอาเซียน และอยู่ในอันดับท้ายๆของโลก ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำอื่นๆ

ในระดับการศึกษาภาคบังคับ ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงมัธยมต้น เด็กไทยได้รับการศึกษากันโดยถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานคนยากจน หรือคนร่ำรวย เมื่อจบมัธยมแล้ว เด็กไทยก็ยังเรียนต่อ ม.ปลายมากพอสมควร แต่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ได้ถึงขั้นก้าวกระโดด เมื่อจบ ม.ปลายจะต่อมหาวิทยาลัย

...

ข้อมูลเมื่อหลายปีก่อน ระบุว่า เกิดช่องว่างระหว่างเด็กที่ยากจนที่สุดกับเด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยสุดถึง 24% หลังจากจบ ม.6 และจะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ลูกหลานคนจนส่วนใหญ่ไม่มีเงินเรียนต่อ แม้รัฐบาลจะมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ก็ยังแก้ปัญหาไม่ทั่วถึง ประเทศไทยจึงมีปัญหาเหลื่อมล้ำสารพัด.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม