ใช้เวลาตั้งลำกันอยู่พักใหญ่ วันนี้พรรคก้าวไกลเริ่มทำบทบาทหน้าที่ที่ถนัดแล้ว คือการเป็นพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบรัฐบาล ทั้งการใช้อำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน การใช้งบประมาณที่ส่อไม่ชอบมาพากล แล้วก็เป็นคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน เริ่มตั้งแท่นสอบงบประมาณก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ (Soil Cement) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ หรือฝ่ายเอลนีโญ

ต้นเรื่องก็มาจาก คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่มีคุณสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานฯ และคุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานฯ เข้าพบ คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) หารือการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนด้วยกลยุทธ์การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.

คณะกรรมาธิการฯได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ประเด็นคือ 1.กระบวนการเสนอคำขอ การพิจารณาคำขอ และยื่นคำขอ เกิดขึ้นในเวลาที่สั้นมากเพียงแค่ 29 วัน ก็ได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว โครงการเริ่มดำเนินการ 1 พ.ย. มาวันที่ 8 พ.ย. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือไปยัง อบต. และเทศบาลตำบล โดยให้ส่งคำขอกลับมายัง สถ. 20 พ.ย. (มีเวลาให้ อบต.และ ทต.พิจารณาทำคำขอเพียง 13 วัน) สำนักงบประมาณพิจารณาคำขอส่งไปยัง ครม. ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา วงเงินราว 2 พันล้านบาท

2.งบประมาณเฉลี่ยต่อฝายหนึ่งแห่ง ไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่จำเป็นต้องผ่าน e-Bidding ในการจัดซื้อจัดจ้าง

3.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงว่าทั้งสองหน่วยงาน ไม่ได้มีส่วนร่วมพิจารณาโครงการนี้ แม้จะเป็นหน่วยงานที่ควรต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างฝายก็ตาม พร้อมทั้งให้ความเห็นในที่ประชุมว่า ฝายทำหน้าที่ยกระดับน้ำ ไม่ได้มีหน้าที่เก็บน้ำในปริมาณมากๆ และการแก้ปัญหาภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ ย่อมใช้วิธีการที่แตกต่างกัน ทั้งสองหน่วยงานไม่สามารถให้ความเห็นในที่ประชุมได้ว่า ฝาย 4 พันกว่าแห่งที่ถูกอนุมัติผ่านโครงการนี้ มีความเหมาะสม เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง และจะไม่เป็นการทำลายแหล่งน้ำหรือไม่ เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมพิจารณาโครงการดังกล่าว

...

4.โครงการนี้ไม่ได้ถูกเสนอในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2567 ของรัฐบาลชุดก่อน แต่เป็นโครงการที่เพิ่งถูกเสนอขึ้นในเดือน พ.ย. อนุมัติจบใน 1 เดือนในรัฐบาลชุดนี้

สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯจะพิจารณาต่อคือ การจัดสรรงบประมาณโครงการนี้จะไปลงในพื้นที่ใดบ้าง มีการกระจุก/กระจายตัวอย่างไร

พอเห็นข่าวนี้ ทำไมผมนึกไปถึงโครงการ “ฝายแม้ว” มีลักษณะการซอยงบประมาณคล้ายๆกัน เพื่อเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องผ่านวิธีการประมูลแบบ e-Bidding จนมีเรื่องมีราวถูกฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช.

ที่สำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯปี 67 ยังไม่ถูกเสนอเข้าสู่สภาฯ โน่นแหละหลังปีใหม่ไปแล้ว วันที่ 3 ม.ค.2567 ถึงจะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 67 วาระแรกได้ จากนั้นต้องตั้งคณะกรรมาธิการฯขึ้นมาพิจารณา จากนั้นต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณารับรองอีก กระบวนการขั้นตอนยังอีกยาวไกล กว่างบประมาณปี 67 จะออกมามีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

เผลอๆอาจต้องปาเข้าไปถึงช่วงกลางๆ หรือปลายไตรมาส 3 ยิ่งทำให้การเบิกจ่ายงบมีระยะเวลาน้อยลง ไม่ถึง 2 ไตรมาสเต็ม ที่สุดการใช้จ่ายงบส่วนใหญ่ก็อาจต้องใช้วิธีพิเศษ จะยิ่งหมิ่นเหม่ทำให้การใช้งบประมาณไม่โปร่งใส การตรวจสอบก็ทำได้ยาก นี่ยังไม่นับรวมพ.ร.บ.กู้เงินทั้งหลายแหล่ ที่จะมีตามหลังมาอีก ยิ่งดูแนวโน้มการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐบาลนี้แล้ว ก็ยิ่งว้าเหว่ เกาไม่ค่อยจะถูกที่คัน แถมยังบริหารงานไม่เป็นระบบ ผมละเป็นห่วงจริงๆ กงเกวียน กรรมเกวียน จะวนซ้ำรอยเดิมอีก.

เพลิงสุริยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม