รมว.พม. เด้งรับ นโยบายแก้หนี้ สั่งปลัด ตรวจสอบ ข้าราชการในสังกัดมีหนี้แค่ไหน พร้อมเรียกถกกรรมการขอทาน แก้กฎหมาย ให้อำนาจกักขัง บังคับฟื้นฟู ฝึกงาน หลังกฎหมายปัจจุบันทำไม่ได้จับแล้วปล่อย คนเวียนขอทานซ้ำๆ ยืนยัน เลิกให้เงิน ช่วยแก้ปัญหาเร็วที่สุด  

วันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงผลการประชุมผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า ตนได้ขอให้ปลัดกระทรวงเร่งดำเนินการ คือในเมื่อพี่น้องข้าราชการชาวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชนทั่วประเทศแล้ว เพื่อนข้าราชการชาวพม.เองก็ควรจะต้องได้รับการดูแลเช่นกัน จึงได้ขอให้ปลัดกระทรวงไปดำเนินการตรวจสอบ และประสานงานกับทุกกรม ทุกหน่วยงาน ของกระทรวงว่า พี่น้องเพื่อนข้าราชการไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราวนั้น ปัจจุบันในวันนี้มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบอย่างไร มีอยู่ปริมาณมากน้อยเพียงใด เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องเพื่อนข้าราชการของกระทรวงเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนต่อไป “ในเมื่อแก้ไขปัญหาคนอื่นแล้วเราก็ต้องแก้ไขปัญหาของตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นสวัสดิการและขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่ง ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแต่ เชื่อว่าตัวเลขคงไม่น้อยหากเทียบเป็นสัดส่วนจำนวนหนี้ต่อหัว คงไม่แตกต่างกับอีกหลายกระทรวง ในเบื้องต้นขอให้ได้ข้อมูลมาดูก่อนว่ามูลหนี้ทั้งหมดมีเท่าไรจากนั้นคงต้องมีการหารือกับสถาบันการเงิน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นสถาบันการเงินแห่งไหน เพื่อดูแนวทางว่าอาจจะลดดอกเบี้ย แก้ไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างไร”

...

นอกจากนี้ นายวราวุธ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาขอทานในประเทศไทย โดยขอให้ปลัดกระทรวงพม. เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมคณะกรรมการขอทานโดยเร็วที่สุด คาดว่าน่าจะสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า เพราะทราบว่าไม่ได้มีการประชุมกันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ตนเห็นด้วยว่า ต้องมีการปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน เพราะใช้มานานแล้ว ซึ่งวันนี้ที่ปัญหาขอทานยังไม่สามารถกำจัดออกไปจากสังคมไทยได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงพม. ในการกักขัง หรือบังคับฟื้นฟูศักยภาพ ฝึกอาชีพ ต้องให้เป็นความสมัครใจเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจับมาแล้วหากเขาไม่สมัครใจก็ต้องปล่อยไป พอออกไปแล้วก็จะลงถนนขอทานเหมือนเดิมเป็นเหตุให้ประชาชนยังเห็นขอทานอยู่

“อย่างไรก็ตาม อย่างที่ตนเคยให้สัมภาษณ์ว่า วิธีที่จะแก้ปัญหาขอทานได้เร็วที่สุดก็คือขอให้พี่น้องประชาชนหยุดให้ทานกับขอทาน จนเกิดเป็นประเด็นดราม่า ทางโลกออนไลน์ขึ้นมา แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ก่อนที่ท่านจะดราม่าท่านต้องเข้าใจกฎหมายของประเทศไทยเสียก่อนว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขอทานให้อำนาจกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้อำนาจกับกระทรวงพม.อย่างไรบ้าง เพราะหากท่านยังไม่เข้าใจก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด” นายวราวุธ กล่าว 

เมื่อถามว่า ช่วงปีใหม่จะมีการจัดระเบียบเข้มข้นขึ้นหรือไม่ เพราะอาจมีการฉวยจังหวะเข้ามาขอทานมากขึ้น นายวราวุธ กล่าวว่า ทางพม.เราก็อยากจะเร่งดำเนินการจับกุม แต่ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยเช่นกัน เพราะพม.ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อจับกุมแล้วเนื่องจากเราไม่มีอำนาจกักขัง บังคับฟื้นฟูก็ต้องปล่อย บางครั้งก็เกิดความเอือมระอา ซึ่งต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะว่าก็เป็นคนเดิมๆ จับแล้วจับอีก บางครั้งก็มองว่าไม่รู้จะจับไปทำไม เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ขอทานเข้าสู่ระบบการฟื้นฟู ศักยภาพ ฝึกอาชีพได้ ถ้าหากเราสามารถบังคับได้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นก็ต้องเชื่อมโยงไปถึงการแก้กฎหมายให้อำนาจในการดำเนินการต่างๆ