การที่นโยบายแต่ละนโยบายจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน วางเป้าหมายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ไปจนถึงจุดหมายปลายทางความสำเร็จของนโยบาย ที่ผ่านมาหลายนโยบายที่รัฐดำเนินการมีโครงสร้างที่ดี แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากมองความสำเร็จของโครงการที่ ต้นน้ำเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลวอลเล็ต หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นการคิดนโยบายที่ไม่ปะติดปะต่อ เริ่มจากกลางทางไปต้นทางไม่ได้มองจุดจบที่ปลายทาง คิดจะแจกเงินดิจิทัลให้อลังการ แต่ไม่ได้มองผลดีผลเสียของการนำไปปฏิบัติ ปัญหาของข้อกฎหมายและวิธีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆไปจนถึงผลลัพธ์สุดท้าย แจกเงินแต่ไม่ได้คิดถึงวิธีหาเงินที่จะนำมาแจก ทำให้นโยบายถึงทางตัน

นโยบายยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์ ก็เหมือนกัน ตั้งคณะกรรมการ ตั้งองค์กร จัดทำงบประมาณกว่า 5 พันล้านเอาไว้เรียบร้อย แต่ยังไม่รู้ความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง เท่ากับยังไม่สามารถจะหาจุดหมายปลายทางของนโยบายได้ คิดว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน ธุรกิจชุมชนให้เจริญเติบโต แล้วจะ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตไปด้วย ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีไปด้วย

แต่จะทำให้เกิดความแตกต่างจากนโยบายทั่วไปอย่างไร เช่น การจัดงานสงกรานต์จะทำให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยจะให้จัดกันยาวต่อเนื่องเป็นเดือน จะสาดน้ำกันทั้งเดือนหรือไม่ก็ตาม แต่ความหมายของวันสงกรานต์มาจากรากเหง้าของประเพณีดั้งเดิมของคนไทย ที่กำหนดวันตามปฏิทิน วิธีการตามธรรมเนียมปฏิบัติกันมาช้านาน คือระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย.ของทุกปี ถ้าวันสงกรานต์จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 เม.ย. หรือวันที่ 30 เม.ย.ก็ไม่ใช่วันสงกรานต์ ดังนั้น การจะจัดให้มีประเพณีสงกรานต์ตลอดเดือน เม.ย. โดยไม่มีการสาดน้ำทุกวันก็ไม่ใช่วันสงกรานต์ หรือจะให้สาดน้ำกันทั้งเดือนก็ไม่ใช่ประเพณีสงกรานต์ แต่เป็นงานอีเวนต์ที่ไม่ได้มีความหมายใดๆ กับซอฟต์พาวเวอร์

...

การที่จะเกิดพลังละมุน ได้ ต้องมีความพิเศษ ในสถานการณ์และตัวบุคคล ที่จะทำให้เกิดกระแสหรือพลังขึ้นมา อะไรที่ทำกันซ้ำซากต่อเนื่องทุกวันก็ไม่มีความพิเศษ เป็นเรื่องปกติธรรมดาไป

ไม่เกิดความแตกต่างในการจัดงานอีเวนต์ของ การท่องเที่ยวฯ ที่มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทุกภาคทุกจังหวัดทุกเทศกาลอยู่แล้ว ความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้อยู่ที่ เทศกาล ขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่ได้อยู่ที่รสชาติของอาหาร ไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่แรงจูงใจจากละครหรือภาพยนตร์ เพราะไม่เช่นนั้น ภาพยนตร์ทุกเรื่อง ละครทุกช่อง ก็กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปหมดแล้ว

คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กำหนดภารกิจไว้ 11 ด้าน งบประมาณส่วนใหญ่จัดสรรไปให้กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่า 500-1,000 ล้าน เฟสติวัลได้งบไป 1,009 ล้าน ท่องเที่ยว 711 ล้าน เกี่ยวกับหนังสือ การจัดนิทรรศการนักเขียน มหกรรมหนังสือได้ไป 69 ล้าน อาหาร 1,000 ล้าน ศิลปะ 380 ล้าน แบรนด์ไทย 310 ล้าน กีฬา 500 ล้าน ดนตรี 144 ล้าน ภาพยนตร์ 545 ล้าน แฟชั่น 268 ล้าน เกม 374 ล้าน การตั้งเป้าที่การใช้งบประมาณไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช่ไม่ใช่.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม