ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยกลายเป็นข่าวอีกครั้ง แม้จะไม่ถึงกับเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ แต่ก็เป็นข่าวใหญ่ในหน้า “ข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จากรายงานของผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ที่ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากสุดในเอเชีย-แปซิฟิก

รัฐบาลไทยหรือคนไทยทั่วไป อาจจะไม่ตื่นเต้น ดีใจ หรือเสียใจต่อข่าวนี้ เพราะไทยเคยได้รับยกย่องจากธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกเมื่อหลายปีก่อน รัฐบาลไทยในขณะนั้นปฏิเสธไม่จริง แต่รัฐบาลปัจจุบันจะยอมรับว่าไทยเป็นแชมป์เอเชียหรือไม่

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อยู่ที่ 43.3% เป็นระดับที่สูงสุดในด้านความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตั้งแต่ทศวรรษ 2000 หรือราวปี 2543 ไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างกลุ่มผู้ร่ำรวยที่สุดกับยากจนที่สุดได้เป็นอย่างมาก

แต่ชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2556 ก่อนการยึดอำนาจของ คสช.ในปี 2557 ระดับความไม่เสมอภาคกลับมาพุ่งสูงสุดในปี 2564 ในช่วงรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช. มีการกระจุกตัวของรายได้มากเป็นพิเศษ ทำให้คนไทย 10% ที่ร่ำรวยถือครองความมั่งคั่งของประเทศมากกว่าครึ่งประเทศ

สาเหตุสำคัญเพราะความแตกต่างกันของโอกาสที่จะได้รับการศึกษา และการฝึกทักษะ รายได้ของเกษตรกรต่ำ มีปัญหาประชากรสูงวัย มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเหลื่อมล้ำตั้งแต่อายุน้อย เนื่องจากโอกาสของการพัฒนามนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน นี่คือปัญหาใหญ่

ทั้งๆที่ประเทศไทยจัดตั้ง “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” มานานหลายสิบปี ไม่ทราบว่ามีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาสังคมและพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ในด้านใด ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ไม่ต้องพูดถึง เพราะโอกาสของคนที่จะเข้าถึงไม่เท่าเทียมกัน

...

รัฐบาลที่บริหารประเทศที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากรัฐประหาร หรือจากการเลือกตั้ง ไม่มีนโยบายแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และความยากจนอย่างแท้จริง รัฐบาลเลือกตั้งส่วนใหญ่แข่งกันลดแลกแจกแถม หรือประชานิยม มุ่งหาเสียงเลือกตั้งมากกว่าที่จะแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม