รมว.ดีอีเอส สั่งจัดการ "ซิมม้า" เด็ดขาด เดินหน้า 6 มาตรการ ตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ ส่งสัญญาณถอนรากถอนโคน "มิจฉาชีพ-ผู้เกี่ยวข้อง" โทษหนัก "จำคุก 5 ปี" เผยผลงานร่วม ตร. ขยายผลจับกุมมา โชว์ของกลางนับหมื่นหมายเลข
วันที่ 1 ธ.ค. 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการกำหนดมาตรการจัดการซิมม้า หรือซิมการ์ดถูกมิจฉาชีพใช้ในการประกอบอาชญากรรมออนไลน์ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) รวมไปถึงภาคเอกชน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อาทิ AIS และ True และหน่วยที่เกี่ยวข้อง หารือเพื่อเร่งรัดในการจัดการปัญหาซิมม้า เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างปัญหากับพี่น้องประชาชนอย่างมากตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งบางครั้ง ซิมเบอร์เดียว ถูกใช้โทร. ออกถึง 500 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ และขณะนี้ก็ยังพบว่ามีผู้ที่ถือครองซิมการ์ดนับร้อยเลขหมาย โดยไม่ได้ยืนยันตัวตนให้ถูกต้อง เป็นช่องว่างของมิจฉาชีพในการหลอกลวงคนไทย
...
นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมกันได้สรุป 6 มาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปราม การใช้ซิมม้า ดังนี้
1. กำหนดให้ผู้ใช้บริการมีการถือครองซิมการ์ดเกิน 5 เลขหมาย จะต้องดำเนินการยืนยันตัวตนต่อผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ภายใน 30 วัน ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการนำซิมการ์ดไปใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการ กสทช. อยู่ระหว่างการดำเนินการออกประกาศ โดยควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และให้มีผลให้ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนไม่เกิน 30 วันนับแต่การออกประกาศอย่างเคร่งครัด ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย จำนวนมากถึง 286,148 ราย และมีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไปมากถึง 7,664 ราย
2. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ให้ดำเนินการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ที่ผิดปกติ โดยเฉพาะ ซิมบุคคลธรรมดา ที่มีการโทร. ออกตั้งแต่ 100 สายในระยะเวลาสั้นๆ หรือ 100 สายต่อวัน โดยให้ตรวจสอบทั้งการโทร. ออกจากช่องทางปกติ และการโทร. ออกจากระบบอินเทอร์เน็ต หากพบความผิดปกติจะต้องเร่งดำเนินการ รวมทั้งการพิจารณาระงับหมายเลข พร้อมส่งข้อมูลของซิม ชื่อเจ้าของและพฤติกรรมที่ต้องสงสัยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลจับกุมโดยเร็ว
3. เร่งระงับเบอร์และขยายผล สืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีจากเบอร์ และชื่อเจ้าของเบอร์ ที่ได้จาก (1) การแจ้งความออนไลน์ (Thaipoliceonline.com) ว่าเป็นเบอร์คนร้ายที่ใช้ในการหลอกลวง, (2) เบอร์ที่รับแจ้งกับ AOC 1441 ว่าเป็นหมายเลขคนร้าย, (3) เบอร์ที่ผู้ให้บริการสื่อสาร ตรวจพบเอง จากระบบ fraud detection และ กสทช. แจ้งว่าเป็นเบอร์ที่ใช้โดยคนร้าย และ (4) เบอร์ที่ต้องสงสัย อาทิ เบอร์ที่ใช้กับอุปกรณ์ ซิมบ็อกซ์ (SIM BOX) หรืออุปกรณ์อื่นที่ใช้กระทำผิด เป็นต้น
ทั้งนี้ ต้องมีการดำเนินคดีโดยเคร่งครัดกับนายหน้าซิมม้า ผู้จัดหาซิมม้า ผู้ขายซิมม้า รวมทั้งผู้ยินยอมให้คนร้ายใช้ซิมตนเองหรือซิมม้า ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปีสำหรับนายหน้า ผู้จัดหาซิมม้า และจำคุก 3 ปี สำหรับเจ้าของซิมม้าหรือผู้ยินยอนให้ผู้อื่นใช้ซิมไปกระทำผิดกฎหมาย
4. ให้มีการแจ้งข้อมูลการโทร. ที่ผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ต่อศูนย์ AOC 1441 และระบบ Audit numbering ของ กสทช. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวมรวมข้อมูล ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกหน่วย ร่วมเร่งตรวจสอบขยายผล แบบบูรณาการ วิเคราะห์อาชญากรรม สืบสวนสวน สอบสวนนำตัวผู้กระทำความผิด และเครือข่ายมาลงโทษโดยเร็ว
5. ดำเนินการตรวจสอบ หมายเลขโทรศัพท์/เสาสัญญาณ และการตั้งสถานีแพร่กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบให้ดำเนินการระงับสัญญาณทันที
6. ดำเนินการกำกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการให้บริการนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากตรวจสอบพบก็จะให้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนทิศทางการแพร่สัญญาณ
นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบการใช้บัตรประจำตัวชาวต่างด้าวมาลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อเปิดใช้งานและขายแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน ซึ่งได้มีการจับกุมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงดีอี ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดำเนินการตรวจสอบ สอบสวน ขยายผลและจับกุม เครือข่ายซิมม้าได้ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมของกลางซิมการ์ดพร้อมใช้งาน 4,379 หมายเลขและที่จังหวัดชุมพร ซึ่งสามารถยึดของกลางได้มากกว่า 10,000 หมายเลข
"กระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการมือถือ มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการใช้ซิมม้าหลอกลวงประชาชน จึงขอเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงจรซิมม้าหรือผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ซิมการ์ดไปกระทำผิดกฎหมาย ให้รีบไปยกเลิกหมายเลขทันที เพราะขณะนี้ภาครัฐเดินหน้าการปราบปรามขั้นเด็ดขาด ซึ่งจะมีโทษหนัก อาจต้องถูกตัดสินจำคุกถึง 5 ปี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว