พลาดอีกจนได้ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน บรรยายถึงสถานะคนที่เป็นหนี้นอกระบบ คือเหยื่อของการค้าทาสยุคใหม่ ที่ได้พรากอิสรภาพไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้ แต่พูดถึงหนี้นอกระบบของคนไทยว่ามีมูลค่า 50,000 ล้านบาท แต่อาจเป็นการประเมินที่ค่อนข้างต่ำ ปัญหาจริงอาจมีมากกว่านั้น

ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้ข้อมูลมาจากไหน รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ ระบุว่า คนไทยเป็นหนี้ครัวเรือนในระบบ 15.96 ล้านล้านบาท เท่ากับ 90% ของจีดีพี และมีหนี้นอกระบบอีกประมาณ 5.22 ล้านล้านบาท เป็น 30% ของจีดีพี รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 21.18 ล้านล้านบาท 120.7% ของจีดีพี

คนที่กู้เงินนอกระบบอาจต้องเสียดอกเบี้ยถึง “เดือนละ” 10% หรือ 20% ถือว่าโหดมาก ซ้ำยังถูกทวงหนี้ด้วยการข่มขู่คุกคาม เป็นหนี้นอกระบบมากสุด คืออาชีพค้าขาย และอาชีพอิสระ ส่วนข้าราชการเป็นกลุ่มที่มีหนี้นอกระบบน้อยสุด เนื่องจากเป็นอาชีพที่มั่นคง แม้เงินเดือนจะไม่สูงนัก แต่มีเครดิตกู้เงินในระบบได้ง่าย

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่นายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียน เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป

จะเปิดศูนย์ดำรงธรรมทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้กำกับการตำรวจ เป็นผู้กำกับดูแล นอกจากลูกหนี้ต้องลงทะเบียนแล้ว นายทุนเงินกู้นอกระบบก็อาจต้องลงทะเบียนด้วย ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อชำระหนี้นอกระบบ

ส่วนธนาคาร ธ.ก.ส.มีโครงการสงวนรักษาที่ดินจากการจำนองขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาท รัฐบาลหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นการถาวร ยั่งยืน แต่เกษตรกรไทยยังมีโอกาสที่จะกลับไปสร้างหนี้ใหม่อีก ทั้งยังมีหนี้ภาครัฐที่จะต้องร่วมกันชดใช้นานถึง 120 ปี

...

ชาวนาไทยซึ่งเคยเป็นกระดูกสันหลังของชาติยังอาจมีรายได้ต่ำกว่าชาวนาส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศอาเซียน เวียดนามมีผลผลิตข้าวต่อไร่สูงสุด 875.2 กก. ตามด้วยอินโดนีเซีย 760 มาเลเซีย 594 ฟิลิปปินส์ 591 ลาว 552 กัมพูชา 475 ไทย 460 ถ้าไม่มีพม่าช่วยกู้หน้า (425) ไทยจะเป็นอันดับโหล่.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม