11.00 น. อังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง จัดงานแถลงข่าว “วาระแห่งชาติการแก้ไขหนี้นอกระบบ” และใช้เป็นฤกษ์ประกาศ “ปลดปล่อยทาสหนี้นอกระบบ” ที่ นายกฯเศรษฐา ระบุว่า เป็น Modern World Slavery เป็น “การค้าทาสในยุคใหม่” ที่ได้พรากอิสรภาพและความฝันไปจากผู้คนในสมัยนี้ ภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ทั้งเจ้าหนี้ลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงการปิดหนี้และทำสัญญา โดยให้ ฝ่ายปกครอง ที่ใกล้ชิดกับประชาชน ฝ่ายตำรวจ ที่กำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย ร่วมกับ กระทวงการคลัง เป็นการแก้ไขหนี้แบบบูรณาการ หลังจากไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้

วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นายกฯเศรษฐา บอกวันที่ 8 ธันวาคม จะประชุม นายอำเภอ ผู้กำกับทั่วประเทศ เพื่อมอบให้เป็นนโยบาย และใช้เป็น KPI ติดตามวัดผลงานอย่างต่อเนื่อง

นายกฯกล่าวว่า การแก้ไขหนี้ในวันนี้ คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ตนมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้นจนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต ดูเหมือนนายกฯเศรษฐาจะมองโลกสวยเกินจริง โดยเฉพาะ โลกแคบๆในประเทศไทย ที่ไม่เหมือนอีกหลายประเทศในโลก นอกจากแก้หนี้นอกระบบแล้ว นายกฯเศรษฐา บอกว่า 12 ธันวาคม จะแถลงภาพรวมของหนี้แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบอีกครั้ง โครงการนี้จะปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลังมีแรงใจที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป

เป็นบทแถลงข่าวที่สวยหรูจริงๆ ทุกอย่างดูเพอร์เฟกต์ไปหมด หลังจากนี้ไป ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบ จะถูกปลดปล่อยเพื่อไปตามฝัน คนที่เคยเป็นหนี้จะไม่กลับมาเป็นหนี้อีก กระทรวงการคลังจะเป็น ตัวกลางให้ประชาชนได้ “กู้เงินก้อนใหม่” จากธนาคารรัฐ 3 แห่งคือ กรุงไทย ออมสิน ธ.ก.ส. เพื่อนำเงินกู้ไป “รีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ” หรือ “ไปใช้หนี้นอกระบบ” เพื่อเป็นหนี้กับธนาคารรัฐแทน จะได้จ่ายดอกเบี้ยถูกลง แต่ก็ยังเป็นหนี้อยู่ดี

...

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ รัฐบาลได้ประเมินหนี้นอกระบบไว้เพียง 50,000 ล้านบาท ในขณะที่ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ ที่ผมนำข้อมูลมาอ้างอิงสองวันก่อน ได้ประเมินหนี้นอกระบบปัจจุบันอยู่ที่ 30% ของจีดีพี คิดเป็นมูลหนี้ 5.22 ล้านบาท เมื่อเทียบกับจีดีพี 17.4 ล้านล้านบาทของปี 2565 ต่างจากตัวเลขของรัฐบาลถึง 100 เท่า ผมคิดว่าตัวเลขหนี้นอกระบบของรัฐบาลน่าจะผิดพลาด อาจทำให้การแก้ไขปัญหาผิดพลาดได้

ส่วน หนี้ครัวเรือนในระบบ ตัวเลขจาก สภาพัฒน์ และแบงก์ชาติ ตรงกัน ไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 90.6% ของจีดีพี มูลค่าหนี้ 16.07 ล้านล้านบาท ไม่ว่านายกฯจะแถลงเรื่องหนี้ในระบบวันไหนก็หนีไม่พ้นตัวเลขนี้ เมื่อรวมหนี้ในระบบและนอกระบบ คนไทยจะมีหนี้มากกว่า 21.18 ล้านล้านบาท มากกว่า 120.7% ของจีดีพี รัฐบาล จะเอาเงินจากไหนไป ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อ รีไฟแนนซ์เงินกู้ก้อนใหม่จากแบงก์รัฐเพื่อนำไปจ่ายหนี้ สหรัฐฯก็ยังทำไม่ได้

การแก้หนี้ด้วยการกู้หนี้มาใช้หนี้ เป็นการแก้หนี้ที่ปลายเหตุแบบเขาวงกต เป็นการแก้หนี้ที่ไม่มีวันจบสิ้น ผมฟังธงล่วงหน้าได้เลยว่า ไม่สามารถแก้หนี้ได้จริง มีแต่จะเพิ่มหนี้ให้คนเป็นหนี้ เพิ่มภาระให้แบงก์รัฐ เพิ่มภาระให้การคลังที่ต้องกู้มาใช้จ่ายอยู่แล้ว

ความจริง แนวทางแก้หนี้ที่ยั่งยืน ก็มีอยู่แล้ว แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ก็ชี้ให้ดูไม่รู้กี่เที่ยวแล้ว คือต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ล้าหลังโลกให้เร็วที่สุด ไม่ใช่มัวแต่ไปแก้ปัญหาเก่า ทั้งที่รู้ว่าแก้ไม่ได้แต่ใช้หาเสียงได้ และสร้างภาระมหาศาลให้คนในชาติในอนาคต

ไม่น่าเชื่อ แนวคิดเศรษฐกิจผู้นำเพื่อไทยที่เคยโด่งดัง วันนี้จะถอยหลังได้ขนาดนี้?

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม