ปลัดกระทรวงมหาดไทยจับมือนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยประชุมประธานแม่บ้านมหาดไทยทั่วประเทศ เน้นย้ำบทบาทประธานแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด คือ การหนุนเสริมบทบาทผู้ว่าฯ ไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีความสุขอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดประชุมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยมี นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด 76 จังหวัด และคณะเข้าร่วม โดยนายสุทธิพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า สมาคมฯ เป็นองค์กรที่มีแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดเป็นสมาชิก เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเกื้อหนุนและทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข มาอย่างดีเยี่ยมตลอดมา เพราะสังคมไทยคาดหวังในความสำเร็จของผู้ว่าฯ และพี่น้องกระทรวงมหาดไทยมากกว่าส่วนงานอื่นๆ ซึ่งปรากฏชัดเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายการขับเคลื่อนผลักดันให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด CEO เป็นนโยบายแรก เพราะคาดหวังว่า ผู้ว่าฯ จะช่วยเป็นผู้นำในพื้นที่ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน พร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลทุกเรื่องอย่างเต็มที่ โดยให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้ที่มีการวางตำแหน่งระดับเหนือกว่าหัวหน้าส่วนราชการตำแหน่งอื่นๆ อันเป็นการตอกย้ำว่าพวกเราทุกคนต้องช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

"สิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดต้องทำ คือ การช่วยกันเฟ้นหาทรัพยากรทางการบริหารที่จะทำให้เกิดการผลักดันขับเคลื่อนงานให้สำเร็จ ซึ่งตนมีมุมมองว่าประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยเป็นภาคีที่สำคัญของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเป็นคู่ชีวิตที่จะช่วยส่งเสริม ช่วยคิด ช่วยแนะนำ ตลอดจนถึงการช่วยหนุนเสริมและดูแลภาพลักษณ์ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นแบบอย่างของพี่น้องประชาชน และสำหรับความตั้งใจของตนอีกประการที่อยากจะให้แม่บ้านมหาดไทยในทุกจังหวัดได้มีแนวทางในการทำงาน คือ อยากให้แม่บ้านมหาดไทยทุกท่านเป็นผู้นำต้องทำก่อนในการสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น ช่วยกัน Change for Good เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และเป็นผู้นำคู่สมรสของท่านนายอำเภอ ท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คู่สมรสของท่านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะสามารถสร้างสิ่งที่ดีให้เกิด โดยถอดบทเรียนจากการน้อมนำโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กว่า 4,741 โครงการ มาปรับใช้ในการดำเนินงาน คือ การร่วมคิด ร่วมทำ และท้ายที่สุด คือ การร่วมรับประโยชน์ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

...

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ขอให้แม่บ้านมหาดไทยยึดมั่นและน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทำให้มีหน้าที่และดำรงตำแหน่งอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นกำลังหลักของผู้ว่าฯ ช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนา ร่วมกันส่งผ่านสิ่งดี ร่วมกัน โดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค.2567 ขอให้ร่วมด้วยช่วยกันทำอามิสบูชา อาทิ การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติโดยใช้สถานที่ที่พระองค์เคยเสด็จฯ หรือเคยทรงประกอบพระราชกรณียกิจ อาทิ พระราชกรณียกิจครั้งสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งนำกำลังปฏิบัติหน้าที่ที่หมู่บ้านหมากแข้ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย เราก็สามารถปรับปรุงพื้นที่ส่วนนั้นให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในความกล้าหาญ ในทุกจังหวัดจะมีพื้นที่ลักษณะนี้ จะต้องช่วยกันทำให้เป็นแลนด์มาร์ก ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นที่ศึกษาของเยาวชนและลูกหลาน ต่อจากการอามิสบูชาคือ การปฏิบัติบูชาด้วยการร่วมด้วยช่วยกันสร้างประโยชน์ต่อสาธารณชน อยากฝากประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยในทุกจังหวัดได้ช่วยกันริเริ่มให้มีกิจกรรมจิตอาสาของชมรมแม่บ้านมหาดไทยในแต่ละจังหวัด ได้ช่วยกันจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสามารถเสริมสร้างเกียรติยศและชื่อเสียงให้กับท่านผู้ว่าฯ พร้อมเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ว่าฯ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ขอให้ความตั้งใจและความมุ่งหวังของทุกคนแทรกซึมลึกลงไปอยู่ในหัวใจของประธานแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด ซึ่งทุกๆ ท่านอาจจะต้องยอมเหนื่อยด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ร่วมกับผู้ว่าฯ โดยมุ่งหมายให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) รวมถึงโครงการและแผนงานอื่นๆ ที่ผู้ว่าฯ ทั้ง 76 จังหวัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคน

ดร.วันดี กล่าวว่า สมาคมฯ ให้ความสำคัญในการร่วมกันส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวในครัวเรือนตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง มีการดำเนินการไปแล้วกว่า 14 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 100% ตามจำนวนครัวเรือนเป้าหมาย ถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 100 บาท/ครัวเรือน/วัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ต่อปีเป็นจำนวนเงินกว่า 500,000 ล้านบาท เกิดเป็นความเชื่อมโยงการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร การสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้น้อมนำแนวพระดําริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งพระองค์ทรงมีพระวินิจฉัยและทรงมุ่งมั่นในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยในภูมิภาคต่างๆ ที่กำลังจะสูญหายให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีให้กับช่างทอผ้าและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา มท. และสมาคมฯ น้อมนำแนวพระดำริมาขับเคลื่อนจนสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/คน/เดือน รวมทั้งมีการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ และปลูกพืชให้สีธรรมชาติเพื่อทดแทนต้นเดิมที่ถูกนำไปใช้ จนทำให้เราสามารถก้าวข้ามมหากาพย์แห่งความยากลำบากในสถานการณ์วิกฤติได้อย่างมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งเรื่องสำคัญ คือ การคัดแยกขยะครัวเรือน ซึ่งสมาคมฯ และกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่ได้รับการรับรอง Methodology พร้อมทั้งได้ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมกว่า 13 ล้านครัวเรือน ช่วยกันคัดแยกขยะอาหารจากครัวเรือน โดยในระยะแรกได้ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน 4 จังหวัดนำร่อง คือ ลำพูน เลย สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งธนาคารกสิกรไทยรับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน จำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นเงิน 816,400 บาท กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น และล่าสุด ได้รับการรับรองในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ราชบุรี ลำพูน ยโสธร พะเยา มุกดาหาร สมุทรสงคราม นครพนม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ มหาสารคาม สกลนคร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นราธิวาส เชียงราย อุตรดิตถ์ นครศรีธรรมราช อุดรธานีและพิษณุโลก ซึ่งความสำเร็จนี้ สร้างความยินดีให้กับพวกเราชาวสมาคมฯ เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ในแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศว่าจะลดปริมาณเรือนกระจกให้ได้ 1,875,433 ตัน แต่ในขณะนี้กระทรวงมหาดไทยและสมาคมฯ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 1,787,000 ตัน เกือบจะถึงค่าเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน