"สมศักดิ์" นั่งหัวโต๊ะ กพต.ตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายจังหวัดชายแดนใต้ หวัง ทบทวน "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" ชงแก้ ม.21 เปิดโอกาสให้กลับตัว ขณะ "ทรงศักดิ์" ชี้แก้แบบเดิมไม่ได้ต้องทบทวน พร้อมเปรียบงบแก้ใต้ หากซื้อเป็ดเดินชนกันตายแน่

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) โดยมี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนใต้, และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุม กพต. มีเรื่องพิจารณาที่สำคัญ คือ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการ และขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังตนได้มีโอกาสปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ เพื่อทบทวนการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง รวมถึงการคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาล ที่บังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็น เพื่อให้นำไปสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่ รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย

"ในสภาผู้แทนราษฎร มักมีการอภิปรายถึงการบังคับใช้กฎหมาย 3 พี่น้อง ซึ่งผมได้เป็นประธานการพิจารณาการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ จึงทำให้เราต้องทำงานอย่างหนักมาตลอด ดังนั้นเราต้องช่วยกันพิจารณาว่า สิ่งใดที่ยังไม่สะดวกก็ต้องมีการพิจารณาปรับแก้ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหา และตรงตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมดในปี 2570 ซึ่งถ้านับระยะเวลาก็พอดีกับอายุรัฐบาลพอดี โดยทำให้เราจะเดินหน้าอย่างเดิมไม่ได้ ซึ่งต้องเร่งขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

...

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหากลับตัวและร่วมมือกับภาครัฐ โดยให้เข้าอบรมแทนการดำเนินคดี เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการนำมาใช้ หลายฝ่ายจึงเห็นสมควรให้มีการปรับแก้ไข เพราะพบปัญหาอุปสรรคจำนวนมาก เช่น บุคคลต้องอยู่ในพื้นที่เท่านั้นถึงเข้าร่วมได้ ระยะเวลาอบรม 6 เดือน อาจไม่เพียงพอ สิทธิทางคดีในชั้นศาลยังไม่ชัดเจน ผู้เข้ารับการอบรมกลับใจ ไม่ยินยอมในภายหลัง รวมถึงตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรมเพียง 7 คนเท่านั้น ทำให้ กอ.รมน.ได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคง ในมาตรา 21 เรียบร้อยแล้ว โดยจะเพิ่มระยะเวลาอบรม 6 เดือน-2 ปี และจะขยายให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่ยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาด้วย รวมถึงกำหนดหน่วยงานช่วยเหลือดูแลหลังการอบรมอย่างชัดเจน ดังนั้น ตนขอฝากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันพิจารณาการปรับแก้กฎหมายนี้ด้วย

ด้าน นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับ นายสมศักดิ์ เพราะการแก้ปัญหาผ่านมาแล้ว 18 ปี แต่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนนโยบายต่างๆ ว่า สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะจากข้อมูลการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 33 อำเภอ พบว่า แก้ได้ไม่ถึง 50% รวมถึงมีบางพื้นที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปแล้ว แต่ก็ต้องมีการกลับมาประกาศใช้ เนื่องจากมีเหตุเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้ามีการเปรียบเทียบงบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาภาคใต้ทั้งหมดไปซื้อเป็ดก็จะพบว่า เป็ดเดินชนกันตายอย่างแน่นอน โดยเราต้องมาช่วยกันทบทวนแล้วว่า นโยบายที่ผ่านมาใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าใช่ต้องมีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน โดยตนมองว่า ข้อกฎหมายใดที่ยังพบปัญหา ก็ต้องนำมาปรับปรุงและทบทวนใหม่ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด