“นายกฯ เศรษฐา” ลั่น เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ พ.ย. ลุยแก้หนี้นอกระบบ ขณะที่ ธ.ค. แก้หนี้ในระบบ เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี ไม่อยากเป็นแค่วาทกรรม ตั้งเป้าพาไทยฝ่าวิกฤติไปยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลก

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ในหัวข้อ “FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยในอนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลง” ณ เพลนารีฮอลล์ 1-4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ประเทศเรามีปัญหาใหญ่คือปัญหาของหนี้สิน ซึ่งได้มีโอกาสคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว หนี้สินคนไทยมีทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน น่าสงสารพี่น้องประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ดอกเบี้ยที่ถูกชาร์จต่อวัน ต่อเดือน ต่อสัปดาห์ สูงกว่าที่กฎหมายระบุหลายเท่าตัว

ดังนั้น ต้องคิดว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ตนขอใช้คำว่าวิกฤติ เชื่อว่าหากเป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำงานมาต้องใช้หนี้และดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม กำลังใจในการทำงานจะลดน้อยลง ทำงานเท่าไรใช้หนี้ไม่หมด เกิดความไม่สบายใจขึ้น ไม่ว่าจะการหันไปพึ่งยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมได้ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลนี้ ซึ่งรัฐบาลจะมีการแถลงข่าวใหญ่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เช่นเดียวกับหนี้ในระบบ ที่จะมีการแถลงในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ให้ครอบคลุมทั้งหมด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

...

สำหรับการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี ไม่อยากให้เป็นวาทกรรม แต่อยากให้มีขั้นตอนในทุกภาคส่วน สามารถทำได้จริง หลังจากที่วาระรัฐบาลนี้จบลง เริ่มจากต้นน้ำไม่ท่วมไม่แล้ง ไปถึงการเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีการค้าขายและระหว่างทาง ทั้งหมดนี้จะถูกบริหารจัดการกันอย่างไร ตนหวังว่าประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เราจะมีการแถลงใหญ่ และมีขั้นตอนที่ชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องน้ำไม่ท่วมไม่แล้ง ทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น ที่ทำกินถูกกฎหมายอยู่แล้ว รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากเรื่องการนำสินค้าเสี่ยงเข้ามา เรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ ต้องบริหารจัดการโดยเร็ว และเอาตัวใหญ่ออกมาให้ได้ ไม่ใช่เอาตัวเล็กแล้วจบไป ภายใน 6 เดือน 12 เดือน ก็เกิดขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของหมูเถื่อน เนื้อเถื่อน และยางเถื่อนด้วย  

นายเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะมีการเวิร์กช็อปเรื่องพืชผลทุกชนิด และพยายามหาวิธีการเพิ่มผลผลิตให้กับทุกภาคส่วนให้ได้ เป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรไทยมี 10 ล้านคน ที่ยังสามารถทำงานได้ การใช้เทคโนโลยีมาตัดตัวการถือเป็นอันตราย ซึ่งมีนักธุรกิจหลายท่านทำธุรกิจนี้อยู่ แต่ก็ต้องยอมรับอาจมีพ่อค้าคนกลางเข้ามา 

ขณะที่สหรัฐอเมริกา อิหร่าน มีปัญหาการแซงก์ชัน (Sanction) ทางด้านการค้า ซึ่งผู้ค้าข้าวไทยอยากส่งข้าวไปขายอิหร่าน หากส่งไปที่อิหร่าน แต่สหรัฐฯ ก็จะแซงก์ชัน ซึ่งตนก็พูดคุยกับทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอฝากด้วย เพราะอิหร่านส่วนมากกินข้าวไทย และเรื่องความขัดแย้งเราไม่ได้เกี่ยวข้อง เราต้องช่วยผู้มีรายได้น้อย จึงฝากท่านทูตให้ช่วยดูแลตรงนี้ ถือเป็นรายละเอียดที่รัฐบาลให้ความสำคัญ อยากช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทุกคนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตั้งเป้าเอาศักดิ์ศรีของประเทศไทยคืนกลับสู่เวทีโลก

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังระบุต่อไปว่า “วันนี้รัฐบาลนี้อยากเอาศักดิ์ศรีของประเทศไทยคืนกลับสู่เวทีโลก ให้คนไทยมีความภาคภูมิใจว่า ไทยสามารถยืนยันบนเวทีโลกและต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน ในการดึงนักลงทุน และในแง่ของการทูตเชิงรุกได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับประเทศไทยเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว มีพลเรือนเป็นนายกฯ มีการให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ถือเป็นขั้นพื้นฐานที่ต่างประเทศมองดูเรา แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมคิดว่ามาตรการสนับสนุนต่างๆ ต้องยอมรับว่าประเทศเราไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น เป็นองค์กรที่แข็งแกร่ง”

ทั้งนี้ ระหว่างที่เรากำลังคอยที่เราได้มีการหวาดเมล็ดพืชออกไป ไม่ว่าจะเรื่องการลงทุน การยกระดับสู่อุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อให้รายได้ประชาชนสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ใช้เวลา บางอันใช้เวลาน้อย บางอันใช้เวลามาก เชื่อว่าภายในเวลา 1 ปี คนอาจจะไม่เห็นอะไร แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำในวันนี้ ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นคงทำไม่ได้ และต้องเข้าเรื่องว่าวันนี้เราทำอะไรไปแล้วบ้าง นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน ทราบกันดีอยู่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่จะวิกฤติหรือไม่วิกฤติเป็นข้อถกเถียง ซึ่งตนก็คุยกับผู้ว่าการ ธปท. อยู่ แต่ก็เป็นสังคมที่เราเห็นต่างและพูดคุยกันได้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่คุยกันได้ ตนมั่นใจว่าทุกคนเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดีในช่วงนี้ 

หาก พ.ร.บ.เงินกู้ ผ่านทุกฝ่าย ถือว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชอบธรรม 

นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน นโยบายหลักของรัฐบาลนี้เราเห็นด้วยว่าต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำและเป็นที่มาที่ไปของดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเข้าใจว่า ทีแรกบอกไม่ต้องกู้ แต่รับฟังความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายมา ทุกภาคส่วน นักวิชาการด้วย จะทำอย่างไรให้โปร่งใส ชอบธรรม ถูกหลักนิติรัฐ เป็นที่มาที่ไปของการที่รัฐบาลนี้ตัดสินใจออก พ.ร.บ.กู้เงิน 

“ถ้าเกิดว่า ครม.เห็นด้วย ครม.คือตัวแทนของ สส. และ สส.คือตัวแทนของประชาชน ก็แสดงว่าพี่น้องประชาชนเห็นด้วย ถ้าเกิดกฤษฎีกาเห็นชอบ ก็ถือถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ต้องผ่านสภาฯ ก็เป็นหน้าที่ของสภาฯ ที่ต้องลงรายละเอียด ให้ทางรัฐบาลตอบรายละเอียดทุกข้อให้ได้ ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความชอบธรรม ผ่านการตรวจสอบของทุกๆ ภาคส่วน คอยให้ขั้นตอนดำเนินไป อาจจะช้าบ้าง แต่ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้จากทุกๆ ภาคส่วน”

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า มีเรื่องที่ต้องทำอีกเยอะ เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลนี้ เป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของรัฐบาล ที่จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ยินดีรับคำติชม ยินดีรับคำแนะนำจากทุกคน พยายามทำให้ถูกต้อง และนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก.